โดดเด่น ! "ลอยกระทง" เหนือสุดลำน้ำน่าน ยึดโยงอดีตเชื่อมปัจจุบันชาวบ้านพึงพอใจ ในความอลังการ
2 พ.ย. 2565, 09:32
ผู้สื่อข่าวONB News รายงานว่า ชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตอยู่กับริมแม่น้ำน่านทั้งสองฟากฝั่ง ส่วนเหนือสุดของลำน้ำน่านก่อนถึงเขื่อนสิริกิติ์ ทั้งตำบลคุ้งตะเภา ตำบลงิ้วงาม ตำบลผาจุก ตำบลบ้านด่าน ตำบลแสนตอ ตำบลหาดงิ้ว ได้พร้อมกันจัดงานลอยกระทงแบบ” วิถีไทยในสายน้ำน่าน ” โดยยึดประเพณีการลอยกระทงริมสองฟากฝั่งลำน้ำน่านมาเชื่อมโยงกับความนิยมด้านแสงสีเสียงการร่ายรำ การแสดงแบบไทยพื้นบ้าน โดยทางตำบลคุ้งตะเภา ชาวบ้านได้ช่วยกันนำกะลามะพร้าวกว่า 5 พันชิ้นนำมาประดับเป็นกระทงสายที่ท่าน้ำน่านหลังวัดคุ้งตะเภา อำเภอเมืองและเป็นท่าน้ำแห่งประวัติศาสตร์ ครั้งเมื่อกองทัพของพระเจ้าตากและทัพของพระยาพิชัยนำไพร่พลทหารมาพักที่ท่าน้ำวัดแห่งนี้ก่อนเข้าปราบก๊กพระเจ้าพระฝาง เป็นก๊กสุดท้ายโดยไม่มีการรบเสียเลือดเนื้อ ส่วนตำบลผาจุก จัดงานลอยกระทงบริเวณท่าน้ำ วัดพระฝางสวางคบุรี ( สะ-หวาง-คะ-บุ-รี) ซึ่งบริเวณอยู่ติดกับริมฝั่งน้ำน่านตะวันตก เป็นดินแดนประวัติศาสตร์ซึ่งครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระปิยมหาราช รัชกาลที่5 เสด็จประพาสทางชลมารคเหนือสุดที่วัดพระฝางเมื่อปี พุทธศักราช 2444 โดยท่าน้ำวัดพระฝาง จัดให้มีการลอยกระทง และการแข่งขันชกมวยไทย พร้อมจัดอาหารหวานคาวให้ทุกคนที่ไปท่องเที่ยวและร่วมลอยกระทงได้รับประทานกันฟรี ส่วนตำบลแสนตอ ตำบลหาดงิ้ว ซึ่งอยู่เหนือสุดและอยู่ท้ายสุดของลำน้ำน่านในเขตอำเภอเมือง ได้รวบรวมชาวบ้านจัดทำโคมประทีป หลายขนาดนับกว่า หนึ่งหมื่นห้าพันดวง (15,000 ดวง) ผูกประดับตามริมตลิ่ง 2 ฟากฝั่งและบนสะพานข้ามแม่น้ำน่าน เฉพาะที่สะพานได้เพิ่มปริมาณโคมประทีปนับหมื่นดวง เมื่อถึงวันลอยกระทง ประกอบกับความสว่างของแสงดวงจันทร์ ค่ำคืนวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงนับเป็นค่ำคืนลอยกระทงที่อลังการ การแสดงของกรมศิลปากร การแสดงนาฎดนตรี ภาพยนตร์กลางแปลง ลิเก การแข่งเรือพายไม้ตะเคียนกลางสายน้ำน่าน สินค้าหัตถกรรม อาหารพื้นบ้านที่หลากหลาย และผู้คนที่ไปท่องเที่ยวจะลืมความทุกข์กังวล เหลือไว้แต่ความสุขสบายใจเฉพาะที่ท่าน้ำวัดหาดงิ้ว และท่าน้ำวัดหลวงพ่อไซร้ ตำบลหาดงิ้ว อำเภอเมือง อุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามคนละฟากฝั่งน้ำ เริ่มงานวันที่ 4 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้พร้อมกัน