มท.1 แจงปมต่างชาติซื้อที่ดิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่มีเจตนาขายชาติ ย้ำฟังเสียงปชช.
3 พ.ย. 2565, 17:01
วันนี้ ( 3 พ.ย.65 ) เวลา 10.30 น. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถามสดของนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ต่อกรณีการแก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้คนต่างด้าวสามารถถือครองที่ดินได้ 1 ไร่ แลกกับเงินจำนวน 40 ล้านบาท โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการตอบกระทู้ถามสด ณ อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร
ในการนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับร่างกฎกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้คนต่างด้าวสามารถถือครองที่ดินได้ 1 ไร่ แลกกับเงินจำนวน 40 ล้านบาท นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งสามารถปรับแก้ไขได้ ทั้งในด้านเงื่อนไขระยะเวลาถือครองที่ดิน และวงเงินลงทุน ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวอันเนื่องมาจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ เนื่องด้วยวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 จึงอยากเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อต้องการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญลงทุนในประเทศแบบระยะยาว โดยมีแรงดึงดูดเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นแกนหลัก อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีเงื่อนไขที่รัดกุมกว่ากฎกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545 โดยเป็นการให้สิทธิเฉพาะชาวต่างชาติที่ได้สิทธิวีซ่าพำนักระยะยาว (“Long–Term Resident Visa” หรือ LTR Visa) ใน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2. ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3. ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย 4. ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องนำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทในธุรกิจ หรือกิจการตามที่ร่างกฎกระทรวงกำหนด และต้องคงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงจะยื่นเรื่องขอใช้สิทธิถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ ในพื้นที่ที่กำหนด โดยจะมีผลใช้บังคับเพียง 5 ปี เท่านั้น
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนไม่มีเจตนาขายชาติ และเชื่อว่าคนในรัฐสภาคงไม่มีใครคิดเช่นนี้ ส่วนที่เกรงคนต่างชาติจะกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากเป็นผืนใหญ่ กระทรวงมหาดไทยจะออกกฎเกณฑ์ไม่ให้ซื้อที่ดินแปลงติดกันเพื่อทำเป็นหมู่บ้านได้ เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งกำลังจะรับฟังความคิดเห็น อีกทั้งยังอยู่ในขั้นตอนที่ปรับแก้ไขทุกอย่างได้ เพื่อให้ประชาชนหายแคลงใจ โดยอาจกำหนดมาตรการให้เข้มงวดมากกว่านี้ เช่น เพิ่มการลงทุนเป็น 100 ล้านบาท หรือเพิ่มเวลาจาก 3 ปี เป็น 5 ปี หรือเป็น 10 ปีก็ได้ เพื่อนำกลับมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจจะล้มร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ไปเลยก็ได้ หากประชาชนไม่สบายใจหรือมีความกังวลกันมาก อีกทั้งเมื่อมีการทักท้วงก็สามารถทำได้ ไม่มีอะไรเสียหน้าทั้งสิ้น ก็ฟังความเห็นกันไป แต่ที่อยากชี้แจงก็คือไม่มีเจตนาเรื่องขายชาติอย่างแน่นอน การทำนโยบายด้านเศรษฐกิจจนเกิดกฎกระทรวงดังกล่าวไม่มีเจตนาเอื้อกลุ่มทุน เพราะไม่ใช่กิจธุระ ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะไปโอบอุ้มหรือเกี่ยวข้องตรงนั้นแต่อย่างใด ส่วนมาตรการทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ต้องทำทุกอย่าง ทุกแนวทาง เช่น อยากได้นักท่องเที่ยวก็ต้องหานักท่องเที่ยว อยากได้นักลงทุนก็ต้องออกมาตรการหานักลงทุน เป็นการใช้มาตรการแบบผสมผสาน ดังนั้น ขอทุกท่านอย่าคิดวิตกกังวล อยากให้มองโลกในแง่ดีกันให้มาก เพราะรัฐบาลมีเจตนาเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ