วันที่ 7 พ.ย. 65 เมื่อเวลา 16.00 น.ที่ศูนย์คชศึกษา(คด-ชะ-สึก-ษา)บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ,รองผู้การตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , นายอำเภอท่าตูม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงข่าวงานช้างสุรินทร์ และการแสดงของช้างแสนรู้สุรินทร์ (แถลงข่าวบนหลังช้าง) ภายใต้ชื่องาน "มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ครั้งที่ 62" ประจำปี พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2565 ณ สนามแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ และร่วมอนุรักษ์วิถีชีวิตคนกับช้างจังหวัดสุรินทร์ให้คงอยู่สืบไป โดยมีผู้เข้ารวมฟังการแถลงข่าวเป็นจำนวนมาก
โดยก่อนจะมีการแถลงข่าว ได้มีการจัดขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน รำมะนาและขบวนรำตร็อด ขบวนช้างแฟนซีสวยงามนับสิบเชือกรวมเต้นรำ นำผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดงานช้างประจำปี ขึ้นนั่งช้างงาสวย เข้าสู่บริเวณแถลงข่าว สร้างความตื่นตาตื่นใจกับความสวยงามและอลังการให้กับผู้เข้าร่วมงานแถลงข่าวเป็นอย่างมาก ซึ่งการการแถลงข่าวในปีนี้ยิ่งใหญ่สมกับงานช้างจริงๆ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นั่งแถลงข่าวบนหลังช้างเลยทีเดียว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์พร้อมหน่วยงานที่กำกับดูแลการจัดงานยืนยันความพร้อมจัดงานในทุกมติและเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาสัมผัสความยิ่งใหญ่ของการจัดงานในปีนี้
สำหรับงานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ ครั้งแรกจัดใน ปี พ.ศ. 2503 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2505 รัฐมนตรีได้มีมติให้เป็นงานประจำปีของชาติ ตามข้อเสนอขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน) รัฐบาลไทยได้กำหนดนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำระดับโลก บนพื้นฐานของความเป็นไทยและกระจายรายได้สู่ชุมชนจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ยังเน้นการส่งเสริมกิจกรรมที่มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ซึ่งจังหวัดสุรินทร์มีเอกลักษณ์โดดเด่นทางประเพณีศิลปวัฒนธรรมทางด้านของชนเผ่าแขมร์ กูย และลาว จนได้ชื่อว่าเป็น "ศูนย์กลางทางวัฒนธรรมอิสานใต้" ทั้งนี้ เมืองสุรินทร์มีประวัติการก่อตั้งเมืองที่มีความเกี่ยวพันกับช้างดังปรากฎในประวัติศาสตร์
ปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์ เป็นจังหวัดที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุดของประเทศจนได้รับการขนานนามว่า "สุรินทร์ ถิ่นเมืองช้าง" ในปี พ.ศ. 2565 นี้ จังหวัดสุรินทร์ได้กำหนดให้มีการจัดงานแสดงช้างฯ ในวันที่ 19 - 20 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งการจัดงานแสดงช้างสุรินทร์ในปีนี้เป็นการครบรอบการแสดงช้าง 62 ปีของการจัดงานแสดงช้างสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์จึงได้กำหนดให้มีการจัดงานแสดงช้าง จำนวน 2 ช่วง คือ การแสดงภาคกลางวัน เวลา 08.45 -12.00 น. และภาคกลางคืน เวลา 19.00 - 20.00 น.
โดยวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 เวลา 08.45-12.00 น.เป็นวันซ้อมใหญ่การแสดงช้าง ณ สนามแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ เวลา 18.00 น.ชมขบวนรถอาหารช้าง ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดี วันที่ 18 พ.ย. เวลา 08.00-12.00 น. เป็นการต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้าง ณ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดี และงานแห่ช้างเข้าเมือง จากสถานีรถไฟสุรินทร์ สิ้นสุดบริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดี วันที่ 19 - 20 พฤศจิกายน 2565 (แสดงจริง) เวลา 08.45-12.00 น.และภาคกลางคืน เป็นการแสดงแสง สี เสียง เวลา 19.00 - 20.00 น. โดยมีช้างแสนรู้เข้าร่วมฉากการแสดงมากกว่า 200 เชือก
สำหรับการแสดงช้างฯ ภาคกลางวัน เวลา 08.45 - 12.00 น. จำนวน 5 องก์ ประกอด้วยองก์ที่ 1. ภูมิบ้าน ภูมิแผ่นดิน สุรินทร์ภักดี ,องก์ที่ 2 ศาสตร์แห่งวิถี มหัศจรรย์ช้างไทย ,องค์ที่ 3 ขึ้นเขาพนมสวาย ตรุษสงกรานต์ ,องก์ที่ 4 เริงสราญโลกของช้างหรรษา ,องค์ที่ 5 ไอยราแห่งแผ่นดิน
การแสดงข้างๆ ภาคกลางคืน เวลา 19.00 - 20.00 น. จำนวน 5 องก์ ประกอบด้วย องก์ที่ 1 ภูมิบ้าน ภูมิแผ่นดิน สุรินทร์ภักดี,องก์ที่ 2 ศาสตร์แห่งวิถี มหัศจรรย์ช้างไทย องค์ที่ 3 ขึ้นเขาพนมสวาย ตรุษสงกรานต์ องก์ที่ 4 เริงสราญโลกของช้างหรรษา องค์ที่ 5 ไอยราแห่งแผ่นดิน