ไทย-ซาอุฯ เตรียมลงนามเอกสาร 3 ฉบับ ยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี ในเวทีประชุมเอเปค
8 พ.ย. 2565, 15:16
วันนี้ ( 8 พ.ย.65 ) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยครม.เห็นชอบร่างเอกสารสำคัญ 3 ฉบับ เกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ประกอบด้วย 1.ร่างแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ.2565- 2567) 2.ร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย และ 3.ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ร่างเอกสารทั้ง 3 ฉบับนี้ จะมีการลงนามระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด และนายกรัฐมนตรีชาอุดีอาระเบีย ในการประชุมเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2565 โดยเอกสารแต่ละฉบับมีสาระสำคัญ ดังนี้
ฉบับแรก คือ ร่างแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ.2565- 2567) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย ภายใต้แผนงานการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทั้ง 3 ส่วน ประกอบด้วย 1)ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง เช่น ยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางพิเศษ และหนังสือเดินทางราชการ และจัดหาที่ดินที่มีความเหมาะสมสำหรับสถานเอกอัครราชทูต และทำเนียบเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงเทพฯ 2)ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เช่น ศึกษาประเด็นความร่วมมือในภาคพลังงาน เพิ่มการส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค การค้าปลีก และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางการลงทุนหรือการเงิน และจัดทำความตกลง 2 ฉบับเกี่ยวกับการรับสมัครแรงงานไทย 3)ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในด้านศิลปะและกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ และแสวงหาความร่วมมือด้านกีฬา อีสปอร์ต และการท่องเที่ยวเชิงกีฬา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตระหว่างกันด้วย เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อน
ฉบับที่สอง คือ ร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วมในการหารือและส่งเสริมความร่วมมือที่สนใจร่วมกันในทุกมิติ ซึ่งจะกำหนดให้มีจัดประชุมร่วมกันเป็นระยะและสลับกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อติดตามความคืบหน้าของข้อริเริ่มที่จะดำเนินการภายใต้แผนการขับเคลื่อน ส่วนกลไกลการทำงาน จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน โดยประธานสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย เป็นผู้จัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน และมีอำนาจอนุมัติโครงสร้างการกำกับดูแลและการบริหารองค์กร รวมถึงระเบียบปฏิบัติขององค์กร ทั้งนี้ การจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย และการมอบหมายภารกิจ จะต้องไม่ขัดกับสิทธิและหน้าที่ที่มีอยู่เดิมของทั้งสองประเทศ
ส่วนฉบับที่สาม คือ ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างสองประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงและโอกาสทางธุรกิจ 2.การแลกเปลี่ยนกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนโดยตรง และการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนของทั้งสองประเทศ 3.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศ ส่วนการขับเคลื่อนความร่วมมือนั้น จะดำเนินการ ดังนี้ 1.ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดนิทรรศการ การทำงาน การประชุม และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อขยายความร่วมมือด้านการลงทุนโดยตรง 2.ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือน ความเชี่ยวชาญ และอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางเทคนิคของทั้งสองประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสความร่วมมือด้านการลงทุนโดยตรงของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะใช้มาตรการที่จำเป็นในการคุ้มครองการลงทุนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งตามกลไกที่ตกลงกันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ โดยแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตนเองที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า เอกสารทั้ง 3 ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือและยกระดับความสัมพันธ์ของไทยกับซาอุดิอาระเบีย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยมุ่งหวังเพื่อเป็นพันธมิตรในระดับภูมิภาคของกันและกัน