รัฐบาลพร้อมลงนาม MOU ความร่วมมือเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย ส่งเสริมการค้า-การลงทุน
8 พ.ย. 2565, 15:22
วันนี้ ( 8 พ.ย.65 ) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งออสเตรเลียว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Strategic Economic Cooperation Arrangement: SECA) โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นตัวแทนลงนามร่างบันทึกความเข้าใจในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปคและการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ การจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (SECA) นี้ จะช่วยสนับสนุนความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ความตกลงการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเชียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
ร่างบันทึกความเข้าใจมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศที่เป็นภาคี รวมทั้งให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทของสตรีในระบบเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในทุกมิติ โดยจะขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงเศรษฐกิจอย่างน้อย 8 สาขาดังนี้
1.สาขาเกษตร เทคโนโลยี และระบบอาหารที่ยั่งยืน พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร เกษตรอินทรีย์ และอาหารแปรรูป รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กฎระเบียบการนำเข้า และความร่วมมือด้านการพัฒนาการเกษตร
2.สาขาการท่องเที่ยว และ 3.สาขาบริการสุขภาพ พัฒนามาตรฐานและบริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
4.สาขาการศึกษา พัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ทั้งการพัฒนาหลักสูตร การประกันคุณภาพ และการฝึกอบรมผู้สอน โดยเน้นสาขา เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ สุขภาพ และเหมืองแร่
5.สาขาการค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความสำเร็จของโครงการต่างๆ ระหว่างกัน ตลอดจนส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจ ในกลุ่มธุรกิจ Digital Start-Up
6.สาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพลง ทัศนศิลป์ (visual arts) ศิลปะการแสดง และวรรณกรรม
7.การลงทุนระหว่างกัน โดยส่งเสริมการลงทุน การอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนในการประกอบธุรกิจ
8.สาขาพลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการลดการปล่อยคาร์บอน พัฒนาด้านพลังงานทดแทน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาพลังงานทดแทน
นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากบันทึกความเข้าใจฉบับนี้นอกจากจะช่วยสนับสนุนการนำปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับออสเตรเลียไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติกับแผนปฏิบัติการระหว่างไทยกับออสเตรเลี่ยในด้านอื่นๆ ด้วย