วันที่ 11 พ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “หลวงปู่รอด อาภสฺสโร” เกจิดังแห่งอีสานใต้ เจ้าอาวาสวัดโคกกรม ต.จีกแตก อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ได้มรณภาพแล้ว เมื่อเวลา 23.15 น. ที่โรงพยาบาลพนมดงรัก อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ สิริอายุได้ 77 ปี 55 พรรษา ด้วยอาการวูบสาเหตุจากพักผ่อนน้อยและโรคประจำตัวคืออาการเส้นเลือดหัวใจโป่งพองมากว่า 10 ปี โดยลูกศิษย์ได้นำสรีระสังขาร กลับมาที่วัดโคกกรม ต.จีกแตก แล้วตั้งแต่เมื่อคืนเวลาปประมาณตี 1 ซึ่งมีลูกศิษย์และชาวบ้านที่ทราบข่าว ต่างพากันมาที่วัดด้วยความโศกเศร้าเสียใจ ไม่นึกว่าหลวงปู่จะจากไปเร็วอย่างนี้
โดยผู้สื่อข่าวได้เข้าไปติดตามที่วัดโคกกลม เมื่อเช้านี้ ก็ได้พบกับ พระครูปริยัติบุญญาทร รองเจ้าคณะ ต.โคกกลาง เจ้าอาวาสวัดโนนสมบูรณ์ ต.โคกกลาง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ จึงได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดย พระครูปริยัติบุญญาทร ได้กล่าวว่า เมื่อคืนทราบจากพระแซมที่ดูแลหลวงปู่ว่า ก่อนเกิดเหตุได้ยินเสียหลวงปู่ตะโกนเรียก จึงได้รีบไปที่ห้องท่านซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน แต่พอเปิดประตูเข้าไป ก็เห็นหลวงปู่ล้มนอนอยู่กับพื้นห้องแล้ว จึงได้รีบเข้าไปประคองและรีบนำหลวงปู่ส่งโรงพยาบาลพนมดงรักทันที ซึ่งเมื่อไปถึงโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ต่างก็ช่วยกันอย่างเต็มที่ ซึ่งพออาตมาไปถึงในเวลาประมาณ 4 ทุ่ม 44 นาที ก็ได้เข้าไปจับที่ปลายเท้าของหลวงพ่อ ก็รู้สึกว่าเท้าก็เย็นหมดแล้ว ไม่มีอะไรตอบสนอง ม่านตาก็เปิดโล่งแล้ว จึงได้บอกกับเจ้าหน้าที่ว่า หยุดได้แล้ว หลวงปู่ไปแล้ว จากนั้นอาตมาก็เดินออกจาห้องมา เพราะรู้สึกว่าทำใจลำบาก จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ได้ถอดสายและเครื่องช่วยออก ก็ได้กลับมาอีกรอบ เพื่อเตรียมนำหลวงปู่กลับวัด สำหรับโรคที่หลวงปู่เป็นอยู่นั้น ก็ได้เคยไปรักษาอยู่หลายโรงพยาบาล แต่หหลวงปู่ก็ไม่รักษา เอาแต่ยามากิน จนกระทั่งมาเกิดอาการเมื่อวานนี้ ซึ่งก็ประกอบกับที่หลวงปู่มีกิจนิมนต์เยอะ พักผ่อนน้อยด้วย
ผู้สื่อข่าวได้รายงานอีกว่า สำหรับบรรยากาศที่วัดในขณะนี้ ทางลูกศิษย์และคณะกรรมการวัดก็กำลังอยู่ในระหว่างประชุมกันว่าจะจัดงานอย่างไรให้หลาวปู่ ซึ่งหากมีคืบหน้าก็จะมารายงานให้ทราบอีกครั้ง
สำหรับชีวประวัติของ “หลวงปู่รอด อาภสฺสโร” ปัจจุบันท่านมีอายุย่าง 77 ปี มีพรรษาที่ 55 ชื่อ(เดิม) บุญรอด นามสกุล ทะลัยรัมย์ เกิดเมื่อ วันอาทิตย์ที่ 1 เดือนมกราคม พุทธศักราช 2488 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 2 ปีชวด ที่ บ้านระกาไกรสร ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ บิดาชื่อนายฉิม มารดาชื่อนางละเมียด นามสกุล ทะลัยรัมย์ มีพี่น้องด้วยกัน 3 คน โดยหลวงปู่เป็นคนโต คนที่ 2 ชื่อ นายรื่น ทะลัย รัมย์ อาชีพเกษตรกร คนที่ 3 ชื่อ นางวิลัยลักษณ์ ฉายถวิล ข้าราชการครูบำนาญ
ตอนวัยเด็กหลวงปู่เกิดมาสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง มารดาจึงได้ตั้งชื่อให้ว่า “บุญรอด” พออายุได้ 5 ขวบมารดาจึงเพิ่งไปแจ้งเกิดให้ ปู่ทวดของหลวงปู่รอดเป็นผู้ที่มี วิชาอาคมคงกระพันชาตรี หนังเหนียว ชื่อว่าตาเบว เป็นบรรพบุรุษรุ่นแรก ตอนที่เสียชีวิตลูกหลานและพี่น้องได้ทำการเผาศพของท่านตามประเพณี ในขณะที่เผาศพของตาเบวไฟไม่ไหม้ หลวงปู่รอดท่านได้บวชเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 13 ปี และต่อมาก็ได้เข้าบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 17 เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2510 ที่ วัดศิรินทราราม ตำบลนาดี อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยมีพระครูอรุณสาธุกิจ วัดศิรินทราราม ตำบลนาดี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “อาภสฺสโร” จนถึงปัจจุบัน ตอนเด็กๆหลวงปู่เป็นคนชอบปั้นพระ ในขณะที่คนอื่นเลี้ยงวัวเลี้ยงควายตามทุ่งนา ซึ่งตาเบวที่เป็นปู่ทวดก็ได้บอกให้ทำพระไป แล้วท่านก็บอกวิชาอาคมทั้งหลายให้ โดยพระที่ทำจะใช้ดินทำ ทำแล้วก็เอาไปไว้บนบ้าน เวลามีญาติโยมมาก็ขอไป ญาติพี่น้องมาก็ขอไป เอาไปเพื่อกราบไหว้บูชา ซึ่งตอนนั้นหลวงปู่รอดก็ได้เรียนวิชาอาคมจากตาเบวแล้ว จึงได้อธิฐานจิตพระทุกองค์ให้ จนกระทั่งถึงอายุครบที่จะบวชแล้วก็เลยได้บวช
หลวงปู่รอดเป็นพระที่ชาวบ้านศรัทธาในด้านศูนย์รวมทางจิตใจ มีเมตตาต่อทุกคนที่เข้าพบ ท่านได้รับความรู้ด้านตำรายาและการรักษาแบบโบราณจากหลวงปู่ 3 องค์คือ หลวงปู่โด๊ะ ชื่อว่าพระครูอรุณสาธุกิจ บ้านโคกวัด ตำบลนาดี อำเภอเมืองสุรินทร์ หลวงตาโด๊ะ มีครูอีกชั้นหนึ่งคือ หลวงปู่ชิด ชื่อ พระครูวิชิตธรรมคุณ วัดบ้านลำดวน ตำบลลำดวน หลวงปู่ริม รัตนมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดอุทุมพร ตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้สร้างวัดเขาแหลม ที่บ้านแนงมุด ตำบลแนงมุด อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ สรีระของท่านยังเก็บไว้ในมณฑป ท่านเก่งกรรมฐาน กายทิพย์ หลวงปู่ทั้ง ๓ ให้ความเมตตาต่อหลวงปู่รอดเป็นอย่างมาก และตำหรับยาบางส่วนหลวงปู่ก็ได้ศึกษาจากตำราโบราณที่บรรพบุรุษของท่านได้เขียนไว้ ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรคมะเร็ง ยารักษาโรคเบาหวาน และ ยารักษาอาการปวดเมื่อย ที่หลายคนนำไปรักษาแล้วหาย จนหลวงปู่ได้รับรางวัลมามากมายในด้านการใช้สมุนไพรรักษาโรค ซึ่งสมุนไพรต่างๆนั้นหลวงปู่ได้เข้าไปหามาจากป่าลึกบริเวณแนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา