รฟท.รับฟังความคิดเห็นประชาชน จ.ชุมพร ในโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ครั้งที่ 1
14 พ.ย. 2565, 15:05
วันนี้(14 พ.ย. 65) เวลา 9.00 น. ณ ห้องอวยชัยแกรนด์บอลรูม โรงแรมอวยชัยแกรนด์ ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผวจ.ชุมพร เป็นประธาน การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนพื้นที่ จ.ชุมพร ครั้งที่ 1 เพื่อสำรวจออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมขอ โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง โดยมีประชาชน ผู้นำท้องถิ่นตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่เข้าร่วม
นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผวจ.ชุมพร กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ดีที่ จ.ชุมพร ได้รับโอกาสจากรัฐบาล ได้มีโครงการที่สร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจที่เชื่อมทั้ง 2 ฝั่งอ่าวระหว่าง จ.ชุมพร ด้านอ่าวไทยไปยัง จ.ระนอง ด้านอันดามัน ซึ่งโครงการนี้จะไปช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศชาติในโอกาสต่อไป
ที่สำคัญ วันนี้พี่น้องชาวชุมพรที่อยู่ในพื้นที่ก็จะได้ช่วยกันระดมความคิดเห็นและนำข้อวิตกกังวลที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวมาวิเคราะห์ศึกษา จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้บริหารโครงการได้มารับฟัง แล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆจากพี่น้องประชาชนโดยตรง ที่อาาจะมีข้อกังวลได้ร่วมกันนำเสนอและหาแนวทางในการแก้ไข ก่อนที่จะเดินหน้าโครงการต่อไป
ทางด้าน ดร.สุวัฒน์ กันภูมิ หัวหน้ากองพัฒนาโครงการและควบคุมฯ.ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่า ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ในวันนี้ จะเป็นงานสำรวจ เพื่อนำไปจัดทำรายละเอียดในการออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง
ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม ได้กำหนดให้มีโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น โดยต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ให้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งได้เริ่มทำการศึกษามาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 โดยได้มอบหมายให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในส่วนของงานสำรวจ ออกแบบรายละเอียดเพื่อจะนำไปจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมใน โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ
จากด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพิ่มโอกาสการพัฒนาด้านอื่นๆ ให้กับประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพในการเดินทางและการขนส่งให้มีความสะดวก รวดเร็วมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
การประชุมในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ซึ่งมีความสำคัญต่อกระบวนการรับรู้และสร้างความเข้าใจต่อผู้มีส่วนได้เสีย ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ ที่ได้รับในวันนี้ โดยจะได้นำเอาไปประกอบการศึกษา พิจารณาการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมทุกภาคส่วนต่อไป