ชป.เผย จัดสรรน้ำเป็นไปตามแผน กำชับเฝ้าระวังเตรียมรับมือฝนภาคใต้ใกล้ชิด
21 พ.ย. 2565, 16:21
วันนี้ ( 21 พ.ย.65 ) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (21 พ.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 63,854 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 39,898 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,875 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 14,161 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี
ด้านการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 65/66 ภาพรวมยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศรวม 27,685 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,364 ล้าน ลบ.ม. หรือ 9% ของแผนฯ ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแผนจัดสรรน้ำ 9,100 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 389 ล้าน ลบ.ม. หรือ 5% ของแผนฯ เช่นเดียวกับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ที่ขณะนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศรวม 11.06 ล้านไร่ มีการเพาะปลูกแล้วรวม 0.896 ล้านไร่ หรือ 8% ของแผนฯ ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนเพาะปลูกทั้งสิ้น 6.74 ล้านไร่ มีการเพาะปลูกแล้ว 0.565 ล้านไร่ หรือ 8% ของแผนฯ เช่นกัน
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ โดยคำนึงถึงการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ตามลำดับ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2565/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนดไว้
อนึ่ง แม้ว่าขณะนี้ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว แต่ในพื้นที่ภาคใต้ยังอยู่ในช่วงฤดูฝน จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด