อ่วม! พิษหมอกควันอินโดฯ ปกคลุม "จ.ตรัง" ชาวบ้านสุขภาพทรุด - ตัวร้อนเป็นไข้ แห่เข้า รพ. เพียบ !
25 ก.ย. 2562, 08:41
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากการที่ค่าฝุ่นละอองในอากาศจังหวัดตรังส่วนใหญ่ยังเกินค่ามาตรฐาน และทั้ง 10 อำเภอของจังหวัดตรังยังมีหมอกควันปกคลุมเต็มพื้นที่ ซึ่งแตกต่างกันที่ปริมาณความหนาแน่นเท่านั้น โดยเฉพาะพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลทั้ง 5 อำเภอของจังหวัดตรัง ประกอบด้วย อ.ปะเหลียน,อ.หาดสำราญ,อ.ย่านตาขาว,อ.สิเกา และ อ.กันตัง ซึ่งเป็นพื้นที่รับลมและหมอกควัน โดยเฉพาะที่ อ.กันตัง จ.ตรัง พบว่า สภาพพื้นที่มีภูเขาขวางกั้นเป็นตอนๆ ทำให้อากาศถ่ายเทยาก จึงทำให้หมอกควันปกคลุมพื้นที่และมรสุมพัดเข้ามาเติมตลอดเวลา ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาหมอกควันหนาแน่น และยาวนานกว่าอำเภออื่นๆ ที่ไม่ติดทะเลนานนับ 1-2 สัปดาห์แล้ว จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก
ดังนั้น ที่โรงพยาบาลกันตัง จึงมีประชาชนจากเกาะลิบง เกาะมุกด์ รวมทั้งตำบลพื้นที่ชายฝั่ง และใกล้เคียง เดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นคนชรา และเด็ก รวมทั้งเด็กเล็ก ที่มีอาการป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ ไอ ตัวร้อนเป็นไข้ ทางด้านเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกันตังก็ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย พร้อมกับแจกหน้ากากอนามัย และพูดประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลตนเอง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง คนชรา เด็ก และหญิงมีครรภ์ โดยการป้องกันตนเองโดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แจ้ง และต้องสวมหน้ากากอนามัย ส่วนคนชรา และเด็กเล็ก ไม่ควรให้ออกนอกบ้านในช่วงนี้
นายแพทย์บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า ทาง สสจ.มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการภาวะภัยสุขภาพขึ้นที่ สำนักงาน สสจ. โดยมีการประชุมและประเมินตรวจสอบสถานการณ์ทุกวัน เพื่อแจ้งเตือนประชาชน พร้อมกับจัดเตรียมอุปกรณ์ เช่น หน้ากากอนามัยรวม 120,000 ชิ้น กระจายไปให้กับทุกอำเภอ ซึ่งหากไม่เพียงพอก็พร้อมขอสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตาม ได้ประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทางให้ประชาชนดูแลตนเอง ทั้งการหลีกเลี่ยงอยู่ในที่โล่งแจ้ง การสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันตนเองในเบื้องต้น
ทั้งนี้ ผลจากสภาวะอากาศและสภาพพื้นที่ ได้สั่งการไปยังเครือข่ายสาธารณสุขทั้ง 5 อำเภอติดชายฝั่งทะเล ให้ดูแลประชาชนเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นพื้นที่รับลมและหมอกควันด่านแรก และยาวนานกว่าพื้นที่อื่นๆ ในส่วนของการดูแลเด็กเล็กทุกโรงพยาบาลชุมชน ก็ปฏิบัติตามขั้นตอนทุกประการ แต่หากสถานการณ์รุนแรงถึงขั้นสีแดง ก็จะมีพื้นที่สำหรับการดูแลเป็นกรณีพิเศษ แต่ขณะนี้ปัญหาในพื้นที่ยังไม่รุนแรงถึงขั้นนั้น ซึ่งสภาพอากาศในพื้นที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทิศทางลมเป็นสำคัญ และปัจจัยฝนหากตกลงมาจะทำให้ช่วยชะล้างได้ดีขึ้น