"กรมควบคุมโรค" ชี้ ! ยา-วัคซีนยังใช้ได้ผลกับ "โควิด BA.2.75" หลังพบแนวโน้มพุ่งขึ้นในไทย
24 พ.ย. 2565, 15:28
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 65 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2.75 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ว่า สายพันธุ์ BA.2.75 ตรวจพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อต้น พ.ค.ที่ผ่านมา และแพร่กระจายไปหลายประเทศ มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง G446S บนโปรตีนหนาม ซึ่งใช้จับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน
ดังนั้น การพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ว่ามีความสามารถในการแพร่ระบาด แต่ยังไม่มีรายงานความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากเชื้อเดิม ประเทศไทยมีรายงานพบ BA.2.75 ครั้งแรกเมื่อปลาย มิ.ย. 2565 แม้ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานสัดส่วนของผู้ติดเชื้อ BA.2.75 ในประเทศเพิ่มขึ้นมากจากเดือนที่แล้ว จาก 23.2% เป็น 43.9% แต่สามารถใช้ยาต้านไวรัสที่มีอยู่รักษาได้ วัคซีนที่มีอยู่รวมถึง LAAB ยังสามารถยับยั้งเชื้อ BA.2.75 ได้
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้สั่งการให้ รพ ต่างๆ ในสังกัด ขยายวันที่ให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อความสะดวกในการเข้าถึงวัคซีน รวมทั้งสถาบันบำราศนราดูรสังกัดกรมควบคุมโรคที่เปิดให้บริการวันจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป
ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า หากมีวัคซีนที่ถูกผลิตมารองรับกับสายพันธุ์ หรือการกลายพันธุ์ ในอนาคตกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลพร้อมที่จะจัดหามาให้ประชาชน แต่ตอนนี้ยังไม่มี ซึ่งวัคซีน ที่ใช้อยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ผู้ผลิตยืนยันว่า สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ หากได้รับเข็มกระตุ้น
จึงขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือฉีดให้ได้อย่างน้อย 4 เข็ม ก็จะเข้าสู่โซนปลอดภัยมากขึ้น ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือ ผู้ที่ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น เพราะแต่ละคนมีปัจจัยความเสี่ยงไม่เหมือนกัน พร้อมย้ำว่า รัฐบาลมีความพร้อมที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ ขอให้มั่นใจในความปลอดภัย