เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สถาบันวิจัยสาธารณสุข ยกงานศึกษานานาชาติ พบ “กัญชา” ช่วยรักษาเบาหวาน - แก้อาการปวดได้


29 พ.ย. 2565, 14:35



สถาบันวิจัยสาธารณสุข ยกงานศึกษานานาชาติ พบ “กัญชา” ช่วยรักษาเบาหวาน - แก้อาการปวดได้




นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เปิดเผยว่า การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ได้พิสูจน์มาแล้วในหลายประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษา และลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ทั้งในระดับของผู้ป่วยและระบบสุขภาพในภาพรวม ตลอดจนทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นจากความเจ็บปวดที่ลดลงหรือสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด 

ทั้งนี้ผลการทบทวนเอกสารงานวิจัยต่างประเทศเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์” ของศูนย์วิจัยยาเสพติดวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผลวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งได้รวบรวมผลการศึกษาต่างๆ ในเรื่องประสิทธิภาพของการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ที่มีในฐานข้อมูลทั้งหมด โดยพบว่ามีถึง 20 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาความเจ็บปวด 

ซึ่งผลโดยรวมระบุว่า จากส่วนประกอบของ cannabinoid สามารถลดความเจ็บปวดได้ในระดับปานกลาง โดยเป็นความเจ็บปวดของผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาท หรือความเจ็บปวดเรื้อรังจากโรคมะเร็ง โรคโครห์น (Crohn’s disease) โรคลำไส้ที่มีการอักเสบ ซึ่งความเจ็บปวดดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก



นอกจากนั้น ยังพบการศึกษาประสิทธิภาพของการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ในอีกหลายกรณีเช่น โรคเบาหวานโดยสาร canabinoid สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยได้  

“การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์” มีวิธีการใช้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการรับประทาน การหยดใต้ลิ้น หรือการใช้ภายนอก โดยสารแคนาบินอยด์ในกัญชาส่วนมากจะนำมาใช้ในการรักษาโรค ซึ่งมี 2 ตัวหลัก ได้แก่ Delta 9-TH และ Delta-9-THC ที่เมื่อรับประทานเข้าไป ตับสามารถกำจัดออกจากร่างกายได้ ส่วนการใช้กัญชาด้วยวิธีการสูบนั้นพบว่าสารแคนาบินอยด์ที่เข้าสู่กระแสเลือดจะมีขนาดและปริมาณที่น้อยกว่าการรับประทาน” 

นพ.นพพร กล่าวต่อว่า  การใช้สารกัญชาในรูปแบบของสเปรย์ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ Nabixmols เป็นการนำเอาสารเคมีทั้งสองตัวมารวมกันในยาตัวเดียวทั้งนี้การศึกษาดังกล่าว ได้รวบรวมและศึกษาทบทวนวรรณกรรมเพื่อหาประโยชน์และโทษของการใช้กัญชาในการรักษาโรครวมถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ไว้ โดยการวิจัยเชิงปริมาณด้วยการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) บทความที่เป็นการศึกษาแบบ Randomize control trial (RCT) เกี่ยวกับการเปรียบเทียบประโยชน์และโทษของการใช้กัญชาในทางการแพทย์ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543-2561 จากฐานข้อมูลPubMed ที่ค้นหาโดยใช้คำว่ า”cannabinoids” และใช้เกณฑ์ในการคัดเลือก รวมทั้งการค้นหาจากฐานข้อมูลJSTOR (ห้องสมุดดิจิตอล) 


ซึ่งในด้านความเจ็บปวดพบ 2 งานวิจัย (งานวิจัยของ Ware et al, 2010) ที่พบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดทางระบบประสาท การให้ยาแบบหนึ่งครั้งสูดดม 9.4% THC ในขนาด 25 mg ของกัญชาจำนวน 3 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา5 วันติดต่อกันสามารถลดความเจ็บปวดได้ อีกทั้งยังส่งเสริมการนอนหลับ และทนต่อความเจ็บปวดอีกด้วย

อย่างไรก็ตามได้สอดคล้องกับงานวิจัยของ Wallace et al, 2016 ในส่วนการบรรเทาอาการเจ็บปวดจากระบบประสาทที่ถูกทำลายจากโรคเบาหวาน พบว่าช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้เช่นกัน โดยมีงานวิจัยที่ถูกนำมาศึกษา 3 งานซึ่งในงานของ Selvarajah et al., 2011 พบว่า ระดับความเจ็บปวดนั้นลดลงอย่างชัดเจน แต่ค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงของระดับความเจ็บปวดนั้นไม่แตกต่างกันระหว่างสองกลุ่มที่ศึกษา โดยผลลัพธ์รองในระหว่างสองกลุ่มนั้นก็ไม่พบความแตกต่าง ในขณะที่ Toth et al., 2012 ผลการศึกษาพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของระดับการเจ็บปวดลดลง เมื่อเทียบกับยาหลอก

งานวิจัยที่เกี่ยวกับความเจ็บปวดเรื้อรังจากโรคมะเร็ง มี 2 งานวิจัย (ของ Portenoy et al., 2012 และ Johnson et al., 2010) ที่ศึกษาประสิทธิภาพของ THC และ CBD โดยทดลองด้วยการให้ยาที่เป็นสูตรผสมระหว่าง THC และCBD ในรูปแบบของสเปรย์ที่ใช้ฉีดพ่น ในช่องปาก เมื่อมีการประเมินความเจ็บปวดโดยใช้ (NRS scale) พบว่า 30 %ของผู้ป่วยรับรู้ถึงความรู้สึกเจ็บปวดลดลงในกลุ่มที่ให้การรักษาแบบขนาดยาที่มีปริมาณต่ำและปริมาณปานกลาง

นอกจากนั้น การศึกษาวิจัยและทดลองในผู้ป่วยชาวอิสราเอลที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโครห์น โรคลำไส้อักเสบชนิดเป็นแผล หรือโรคที่ลำไส้มีการอักเสบ  โดยที่ผู้เข้าร่วมทุกคนได้รับการรักษาด้วยกัญชาแห้ง และได้รับการแนะนำใช้ยากัญชาแบบสูดดม โดยสามารถสูดดมได้ถึง 3 ครั้งต่อการบรรเทาอาการปวดแต่ละครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงอาการผลข้างเคียงทางจิต หลังจากการรักษาไปแล้ว 3 เดือน ผู้ป่วยมีการรับรู้ได้ว่าสุขภาพโดยรวมทั่ว ๆ ไปนั้นดีขึ้น การดำเนินชีวิตด้านสังคม ความสามารถในการทำงาน มีการตอบสนองในด้านดีขึ้น นอกจากนี้ อาการเจ็บปวดและความเครียดวิตกกังวลลดลง

ทั้งนี้ในด้านโรคเบาหวาน มีงานวิจัยทั้งหมด 12 ชิ้นที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับสาร cannabinoids กับโรคเบาหวานซึ่งพบว่า การรักษาที่ให้สาร canabinoid สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยในกลุ่มผู้ทดลองที่เป็นเบาหวานประเภท 2 ที่ไม่ได้ใช้อินซูลินในการรักษา โดยพบว่าระดับ น้ำตาลในเลือดที่ลดลงมีผลจากการได้รับ THCV และยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานของเซลล์ตับอ่อนที่ เรียกว่า beta-cell ได้อย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาในกลุ่มอื่นๆรวมถึงกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.