เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



คณะนักธุรกิจจาก EU-ABC และ EABC นำภาคเอกชนจากยุโรปเข้าพบ นายกฯ


29 พ.ย. 2565, 18:19



คณะนักธุรกิจจาก EU-ABC และ EABC นำภาคเอกชนจากยุโรปเข้าพบ นายกฯ




วันนี้ ( 29 พ.ย.65 ) เวลา 15.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล คณะผู้แทนสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน(EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) และสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ประเทศไทย(European Association for Business and Commerce: EABC) เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
 
โดยในครั้งนี้ มีบุคคลสำคัญเข้าร่วมการหารือด้วย ดังนี้ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และนายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ด้านคณะ EU-ABC/EABC อาทิ นายเดวิด เดลี (Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นายนายมาร์ติน เฮส์ (Mr. Martin Hayes) ประธาน EU-ABC นายคริส ฮัมฟรีย์ (Mr. Chris Humphrey) ผู้อำนวยการบริหาร EU-ABC นายฟาริด บิดโกลิ (Mr. Farid Bidgoli) ประธาน EABC คณะผู้แทนถาวรสหภาพยุโรปในประเทศไทย และผู้แทนบริษัทกว่า 20 บริษัท จากหลากหลายสาขา อาทิ บริษัท Bayer, Booking. com, Bosch, DANONE, DHL, Yara. Michelin, Roche, Zuellig Pharma เป็นต้น
 
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบกับเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปฯ รวมทั้งคณะนักธุรกิจจาก EU-ABC และ EABC อีกครั้งทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของไทยและหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียน โดยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 ของไทย และมีการลงทุนอันดับที่ 3 ของไทย นอกจากนี้ ไทยและสหภาพยุโรปมีค่านิยมสากลร่วมกันหลายประการรวมถึงมีเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจดิจิทัล หวังว่าภาคเอกชนจากสหภาพยุโรปจะใช้ประโยชน์จากความเป็นหุ้นส่วนนี้ในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่ายให้เพิ่มพูนขึ้น
 
เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปฯ รู้สึกยินดีที่ EU-ABC ได้นำภาคเอกชนของยุโรปมาพบหารือกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้เพื่อหารือถึงโอกาสในการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิก EU-ABC และ EABC กับภาครัฐของไทยรวมทั้งสะท้อนถึงความสนใจของภาคเอกชนยุโรปที่สนใจขยายความร่วมมือการค้าและการลงทุนในไทย 
 
ทั้งนี้ ไทยกับสหภาพยุโรปมีพลวัตด้านความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ครอบคลุมทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่ายในปีนี้เพิ่มขึ้น แต่ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพและโอกาสในการเพิ่มพูนมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก สหภาพยุโรปยืนยันความร่วมมือกับไทยเพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 
ด้านประธาน EU-ABC กล่าวว่า การมาเยือนไทยครั้งนี้อยู่ในเวลาที่เหมาะสม ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 และความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกฝ่าย ภาคเอกชนยุโรปมองว่าการรื้อฟื้นการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปจะช่วยผลักดันการค้าและการลงทุนของทั้งไทยและยุโรปให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นโอกาสนี้ EU-ABC ยังชื่นชมในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน EU-ABC ยินดีร่วมมือกับไทยผลักดันการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ BCG เพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย และผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย
 
นายกรัฐมนตรีและคณะ EU-ABC ต่างเห็นพ้องกันว่า วิกฤติโควิด-19 และภาวะความขัดแย้งระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก นายกรัฐมนตรียืนยันว่าประเทศไทยยังคงมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าพอใจ ทั้งในแง่ของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ สัดส่วน หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงสร้างความเชื่อมั่นในค่าเงินบาท รวมถึงในช่วงประชุมเอเปค ทาง IMF ก็ยังมองว่าไทยมีศักยภาพ และมีแนวโน้มของเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้านผู้อำนวยการบริหาร EU-ABC กล่าวชื่นชมรัฐบาลในการจัดการกับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และดูแลนักธุรกิจยุโรปที่อยู่ในไทยได้เป็นอย่างดี ยืนยันร่วมมือกับรัฐบาลผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้เพิ่มพูน
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในปี 2566 รัฐบาลมุ่งมั่นจะสานต่อนโยบายที่จะช่วยลดภาระให้กับภาคประชาชนและภาคเอกชนในไทยที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก พร้อมกับเน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของไทย รวมถึงมาตรการสำคัญอย่างการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ จึงขอเชิญให้สมาชิก EU-ABC และ EABC พิจารณาเข้าร่วมลงทุนในพื้นที่เขต EEC โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ การลดคาร์บอนและดิจิทัลที่สหภาพยุโรปมีความเชี่ยวชาญ
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมถึงการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อรองรับโมเดล BCG ซึ่งรัฐบาลได้เร่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและเอกชน มีการปลดล็อกข้อกฎหมาย และใช้เครื่องมือต่างๆ อาทิ กลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การใช้มาตรการทางภาษี การส่งเสริมฉลาก BCG การคำนวณ carbon footprint การให้สิทธิประโยชน์แก่การลงทุนในอุตสาหกรรม BCG กลไกการเงินสีเขียว รวมทั้งผนวกเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับทิศทางสู่นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน นโยบายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และพลังงานทดแทน ซึ่งภาคเอกชนยุโรปยินดีหารือเพิ่มเติมถึงรายละเอียด และพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริมนวัตกรรมและการวิจัยด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่ง EU-ABC ชื่นชมรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายที่เน้นการเติบโตเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และม่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทาง ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปยุโรปสีเขียวของสหภาพยุโรป (European Green Deal) 
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวเชิญชวนให้ภาคเอกชนยุโรปใช้ประโยชน์จาก EEC ซึ่งรัฐบาลได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เชื่อมโยงกันเป็นระบบโครงข่ายโลจิสติกส์ ซึ่งหากแล้วเสร็จจะเชื่อมโยงกับเครือข่ายการคมนาคมทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศในภูมิภาคเอเชียทั้งฝั่งจีนและอินเดีย ซึ่งภาคเอกชนยุโรปมองว่า ไทยมีความสำคัญในภูมิภาค และชื่นชมรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะในสาขา รถ EV ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งมีความน่าสนใจ
 
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคยุโรปมากยิ่งขึ้น และยินดีอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนอย่างเต็มที่ภายใต้กรอบกฎหมายและระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง และจะพิจารณาข้อเสนอโครงการลงทุนบนหลักธรรมาภิบาลที่ดี มีความโปร่งใส เพื่อให้นักลงทุนจากยุโรปสามารถแข่งขันกับนักลงทุนจากชาติอื่น ๆ ได้อย่างเท่าเทียม
 
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังยินดีที่จะได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ช่วงกลางเดือนธันวาคม และจะเข้าร่วมรับประทานอาหารกลางวัน (C-Suite Luncheon) ระหว่างการประชุม ASEAN-EU Business Summit ซึ่งจะเป็นโอกาสในการรับฟังความเห็น และหารือถึงช่องทางที่จะสามารถสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างสองภูมิภาค
 
ทั้งนี้ สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) เป็นองค์กรหลักสำหรับ กลุ่มธุรกิจจากยุโรปที่ดำเนินกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมาธิการยุโรป และได้รับการรับรองจากสำนักเลขาธิการอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนยุโรปที่ดำเนินกิจการในภูมิภาค และร่วมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎระเบียบที่จะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างยุโรปกับอาเซียน โดยสมาชิก EU-ABC ประกอบด้วยสภาหอการค้ายุโรป 9 แห่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ประเทศไทย (European Association for Business and Commerce: EABC) ที่เป็นสภาหอการค้ายุโรปประจำประเทศไทย ตลอดจนภาคธุรกิจชั้นนำของยุโรป









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.