"ชมรมครูประถมศึกษา" เรียกร้องต่อประธานรัฐสภาไม่ให้นำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...บรรจุเข้าวาระการประชุมวาระ 3
30 พ.ย. 2565, 05:37
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมดอยตุง ร.ร.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ดร.สุนทร กุมรีจิตร ประธานชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ ได้เป็นประธานในการประชุมแกนนำคณะกรรมการชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ เพื่อร่วมกันปรึกษาหารือเกี่ยวกับการคัดค้านเรียกร้องไม่ให้ประธานรัฐสภาไม่ให้นำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...บรรจุเข้าวาระการประชุมวาระ 3 เนื่องจากชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษและข้าราชการครูทั่วประเทศไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ในหลายประเด็นด้วยกัน โดยมี นายเอกอมร ใจจง หัวหน้าสำนักงานและประธานยุทธศาสตร์ชมรมฯ พร้อมด้วย นายศราวุธ วามะกัน เลขาธิการชมรมฯ นายสัมพันธ์ ไทยสรวง ผอ.ร.ร.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ ผู้นำครูสังกัด สพป.ศรีสะเกษ เขต 1-4 มาร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ จากนั้น ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทุกแขนง
ดร.สุนทร กุมรีจิตร ประธานชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จากกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแสดงความเป็นห่วงในที่ประชุม (ครม.) เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาว่า เป็นกฎหมายปฏิรูป รื้อระบบการศึกษาหลายอย่าง และมีปัญหาในหลายมาตรา ที่จะทบทวนเป็นครั้งสุดท้ายในกรรมาธิการ จึงขอให้ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้วิปสภาไปพูดคุยกับวิปวุฒิสภา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไปเจรจากันในการที่จะปรับปรุงแก้ไขประเด็นเหล่านี้เสีย ซึ่งชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ ขอขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรี เป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่ในคณะรัฐบาลได้กรุณาห่วงใย ติดตาม ตรวจสอบสาระในบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อันจะส่งผลประโยชน์ยิ่งต่อประเทศชาติ และให้มีการทบทวน ชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ ขอแถลงจุดยืนความจำเป็นต้องปรับแก้ประเด็นสำคัญในอีกหลายมาตรา อันเนื่องด้วยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ตอบโจทย์ประเทศ ไม่ส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และสงบสุข ในสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....(ฉบับผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญฯ) คือ 1. รัฐไม่จัดการศึกษา จะนำมาซึ่งความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติ สู่การล้มเจ้าไม่เอาสถาบัน จะเกิดความไม่สงบทางสังคมและความวุ่นวายทางการเมืองการปกครอง ตามนัยมาตรา 11 (1) (3) และ 48 วรรค 2 2. เด็กและผู้ปกครองไม่ได้รับโอกาสจากครูดีที่มีมาตรฐานและคุณภาพ เพราะคนทั่วไปใครก็เป็นครูได้ การศึกษาล้มเหลว มาตรา ม.11, 34, 35 และ 42 3. องคาพยพทางสังคมไทยถูกปรับเปลี่ยนไป สถานศึกษาที่เป็นสถาบันคู่ชุมชนโรงเรียนเล็กถูกยุบ ควบรวม ลดจำนวนผู้บริหาร และข้าราชการครู ส่งผลต่อความสงบสุขสามัคคีของคนในชาติ มาตรา 14 (9) 4. ขาดการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขาดหลักธรรมาภิบาลการปกครองบ้านเมืองที่ดี ความรักชาติ ศาสนา และเคารพในสถาบัน มาตรา 6, 8, 11 และ ม.48 วรรค 2 และ 5. แนวการจัดการศึกษาไม่ส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียน มาตรา 8 ดังนั้น ชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ จึงขอเรียกร้องดังนี้ 1. ขอเรียกร้องต่อประธานรัฐสภาไม่ให้นำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...บรรจุเข้าวาระการประชุมวาระ 3 และ 2. ขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ที่มีความรู้ประสบการณ์ และเคยทำงานเรื่องการศึกษามาอย่างเชี่ยวชาญขึ้นมาใหม่ โดยใช้ร่างเดิมและนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาเป็นต้นร่าง ตนจึงขอฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รมต. และประธานรัฐสภา รวมทั้งผู้มีอำนาจทุกภาคส่วนได้โปรดพิจารณาข้อเรียกร้องของชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษดังกล่าวด้วย