เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นักศึกษาวิศวะฯ ม.มหิดล กาญจนบุรี เผยผลประสิทธิภาพในการดักฝุ่นของไม้พุ่มประดับสวน 10 ชนิด


11 ธ.ค. 2565, 10:31



นักศึกษาวิศวะฯ ม.มหิดล กาญจนบุรี  เผยผลประสิทธิภาพในการดักฝุ่นของไม้พุ่มประดับสวน 10 ชนิด




วันนี้ 10 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ   อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ  มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี  ได้เปิดเผยว่า  “ นักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ  มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี  ประกอบด้วย นางสาวสโรชา ขำรัตน์ และนายพัสกร ช้างแก้ว  ได้ศึกษาข้อมูล และเผยข้อมูล ผลการทดสอบและวิเคราะห์ผลประสิทธิภาพ ในการดักฝุ่นของไม้พุ่มประดับสวน

 

จากการที่นักศึกษา ได้ศึกษารวบรวม และจัดเก็บข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ดังกล่าว พบว่า บ้านเรือนประชาชน นิยมปลูกไม้พุ่มกั้นระหว่างถนนและตัวบ้านเพื่อความสวยงาม สร้างความเป็นส่วนตัว และอีกหนึ่งในจุดประสงค์คือเพื่อลดฝุ่นจากถนนพัดพาเข้าบ้านนั่นเอง ฝุ่นมีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของผู้อยู่อาศัยริมถนน อีกทั้งทำให้บ้านเรือนสกปรก จึงได้เสนอแนวทางการเลือกไม้พุ่มเพื่อช่วยลดฝุ่นจากถนน  จากการทดลองหาประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นของใบไม้จากไม้พุ่มจำนวน 10 ชนิด บริเวณมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี โดยไม้พุ่มเหล่านี้นิยมปลูกกันตามบ้านเรือนทั่วไปเช่นกัน  ได้แก่  ไม้พุ่ม 10 ชนิด ที่ใช้ในการศึกษา

1.ประยงค์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Aglaia odorate )

2.โมกป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia religiosa )

3.ผกากรอง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Lantana camara L.)

4.หนุมารประสานกาย (ชื่อวิทยาศาสตร์ Schefflera leucantha R.vig.)

5.โมกด่าง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia religiosa Benth.)

6.เฟื้องฟ้า (ชื่อวิทยาศาสตร์ Bougainvillea )

7. พู่ระหง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus schizopetalus )

8.คริสตินา (ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium austral )

9.เทียนทอง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Duranta erecta L. )

10.สังกรณี (ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria strigose willd. )

 

ผลการทดสอบพบว่าใบไม้มีปริมาณในการดักจับฝุ่นแตกต่างกันเนื่องจากปัจจัยทางสัณฐานของใบไม้ ได้แก่ พื้นที่ของใบ ลักษณะการเรียงตัว และลักษณะพื้นผิวของใบไม้ที่ต่างกัน ใบของเฟื่องฟ้าแสดงประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นสูงสุด คือ 0.071 กรัมต่อตารางเซนติเมตร ตามด้วยผกากรอง (0.069 กรัมต่อตารางเซนติเมตร) และเทียนทอง (0.067 กรัมต่อตารางเซนติเมตร) ลักษณะสำคัญของพืชที่มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นสูง คือ ใบไม้ที่มีลักษณะเป็นขนปกคลุมใบไม้ ลักษณะใบหยาบ เพื่อช่วยในการดักจับฝุ่น ประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นของใบพืชแต่ละชนิดในหน่วยกรัมต่อตารางเซนติเมตร

 

โดย ผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการแนะนำและควบคุมคุณภาพโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ   อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ  มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี  อาจารย์เอริกา ได้กล่าวในตอนท้ายว่า “ข้อมูลที่นักศึกษาดำเนินการจัดทำ เป็นข้อมูลที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ เพื่อให้ประชาชนและนักศึกษาเห็นประโยชน์ของต้นไม้ที่ช่วยฟอกอากาศและกรองฝุ่นละออง มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ยังมีโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้การจัดการฝุ่นละอองในหลากหลายประเด็น หากประชาชนท่านใดต้องการปรึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ  Email  [email protected]”   สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ  มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ในวันและเวลาราชการ ที่เบอร์โทรศัพท์  034 585058



 



คำที่เกี่ยวข้อง : #กาญจนบุรี  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.