นายกฯ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เสนอให้อาเซียนและสหภาพยุโรปปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับทุกฝ่าย
15 ธ.ค. 2565, 09:56
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 65 เวลา 14.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์) ณ อาคารยูโรปา กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - สหภาพยุโรป พร้อมกับผู้นำหรือผู้แทนอาเซียน 9 ประเทศ และยุโรปอีก 27 ประเทศ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมระหว่างผู้นำของทั้งสองภูมิภาคเกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทาย แต่เห็นถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนและสหภาพยุโรปที่จะร่วมมือกัน เพื่อแก้ไขปัญหา และร่วมกันเป็นพลังบวกที่สร้างสรรค์ เพื่อนำมาซึ่งความสงบสุข ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน พร้อมเชื่อว่า 45 ปี ที่ผ่านมา สามารถเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญและประโยชน์ของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-สหภาพยุโรป ที่ส่งผลต่อสองภูมิภาคและต่อประชาคมโลก
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง 3 เรื่องสำคัญ ที่จะช่วยภูมิภาคและโลกให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้
1. การรับมือกับความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์และความท้าทายด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรีมุ่งหวังที่จะเห็นสหภาพยุโรปมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับทุกฝ่าย มุ่งสร้างความร่วมมือ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในภูมิภาคที่เอื้อต่อการพัฒนา เชื่อว่า ทุกฝ่ายต้องสร้างพื้นที่ทางการทูตเพื่อให้เกิดยุทธศาสตร์ทางออก ไทยขอเสนอข้อริเริ่มเพื่อสันติภาพ โดยใช้แนวทางที่แยกเรื่องการสู้รบในพื้นที่ออกจากความร่วมมือและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและมนุษยธรรมเพื่อต่อยอดจากความสำเร็จของข้อริเริ่มการส่งออกธัญพืชในทะเลดำ นายกรัฐมนตรีขอให้สหภาพยุโรปร่วมกับประเทศที่เกี่ยวข้องและสหประชาชาติผลักดันร่างข้อมติ เพื่อให้เปิดทางสำหรับปฏิบัติการทางอากาศด้านมนุษยธรรมในการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ยูเครน
2. การเปลี่ยนผ่านสีเขียวเพื่อความยั่งยืน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วิกฤตต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกิดจากธรรมชาติ ทำให้ต้องร่วมกันสร้างความเป็นหุ้นส่วนสีเขียวอาเซียน-สหภาพยุโรป ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยจะร่วมกับสหภาพยุโรปส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในอาเซียน และหวังว่าจะไม่มีการนำมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนความพยายามของอาเซียน รวมทั้งไทยพร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยความมั่นคงและความยั่งยืนทางอาหารโลกในปีหน้า พร้อมเชิญผู้นำทุกคนเข้าร่วม
3. การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ไทยยินดีกับข้อริเริ่ม Global Gateway ของสหภาพยุโรป สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งด้านดิจิทัล นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการอาเซียน-สหภาพยุโรปด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนมีส่วนเกื้อกูลการผลิตสินค้า EU ซึ่งจะช่วยสนับสนุน FTA ไทย-EU เป็นแนวทางสำหรับเจรจา FTA ASEAN-EU นายกรัฐมนตรีได้กล่าวทิ้งท้ายว่า AEAN -EU สามาถร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่โลกได้