เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ปลัด มท. ลงนาม MOU ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำจากความผิดคดีทางเพศ-ใช้ความรุนแรง


23 ธ.ค. 2565, 15:51



ปลัด มท. ลงนาม MOU ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำจากความผิดคดีทางเพศ-ใช้ความรุนแรง




วันนี้ ( 23 ธ.ค.65 ) เวลา 10.00 น. ที่ห้องสนฉัตร ชั้น 3 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายธีรศักดิ์ เงยวิจิตร เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ รองอัยการสูงสุด นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และพลตำรวจโท วีระ จิรวีระ รองจเรตำรวจแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำจากผู้กระทำความผิดคดีทางเพศหรือที่ใช้ความรุนแรงระหว่างกระทรวงมหาดไทย สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงยุติธรรม โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานสักขีพยาน โดยมี นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายณัชวันก์ อัลภาชน์ เตชะเสน ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน และภาคีเครือข่าย ร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
      
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวว่า ที่มาของพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 หรือเรียกโดยย่อว่า กฎหมาย JSOC : Justice Safety Observation ad hoc Center  สืบเนื่องมาจากสาเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นทุกปี มักมีพฤติกรรมก่อเหตุซ้ำ จึงได้ขับเคลื่อนยกร่างกฎหมายกระทั่งถูกตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมโดยเฉพาะสตรี และเพื่อป้องกันอันตรายจากการก่อเหตุซ้ำซาก  โดยสาระสำคัญของกฎหมาย JSOC จะใช้กับผู้กระทำผิด 3 กลุ่ม คือ 1) ความผิดทางเพศ 2) ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย และ 3) ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ/เรียกค่าไถ่ มีสาระสำคัญ คือ แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด และเฝ้าระวังภัยหลังพ้นโทษโดยใส่กำไล EM มากที่สุด 10 ปี และหากพบการกระทำผิด ตำรวจและฝ่ายปกครองสามารถเข้าควบคุมตัวทันทีภายใน 48 ชั่วโมง และเจ้าหน้าที่คุมประพฤติสามารถขอควบคุมฉุกเฉินเพิ่มอีกไม่เกิน 7 วัน และขออำนาจศาลเปลี่ยนมาตรการจากเฝ้าระวังเป็นคุมขังไม่เกิน 3 ปี โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 23 มกราคม 2566 นี้
     
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ได้ให้ความสำคัญและผลักดันกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง อันเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น และขณะเดียวกันยังเป็นเครื่องมือช่วยทำให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดซ้ำได้มีเครื่องเตือนใจให้ยับยั้งชั่งใจไม่ให้กระทำผิดซ้ำ รวมทั้งทำให้คนในสังคมได้มีโอกาสช่วยกันดูแลผู้ที่มีโอกาสกระทำความผิดให้เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวและสังคม
     
"ผมเห็นความตั้งใจของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอย่างเด่นชัด ตั้งแต่ในช่วงขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย ซึ่งท่านณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นกำลังสำคัญมาร่วมหารือและยืนยันถึงบทบาทของกระทรวงมหาดไทยที่มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ซึ่ง ณ ขณะนั้น พวกเราในฐานะวิญญูชน เมื่อได้พิจารณาร่างกฎหมายแล้ว ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นเรื่องที่ดีและจะเป็นประโยชน์ในการสร้างมาตรการป้องกันและระมัดระวังความปลอดภัยให้กับประชาชน ทำให้ประเทศชาติมีกลไก มีระบบที่จะดูแลคนดี และช่วยสกัด ระงับยับยั้งไม่ให้คนที่เผลอพลั้งในเรื่องจิตใจที่จะตัดสินไปทำสิ่งที่ผิด ทำความเดือดร้อนให้กับผู้คนและสังคม" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
     
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า ภารกิจของกระทรวงมหาดไทยตามกฎหมายฉบับนี้สอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ของพวกเราชาวมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่ต้อง "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้กับพี่น้องประชาชน โดยชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ทั้ง 878 อำเภอใน 76 จังหวัด อันประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องอาสาสมัครต่าง ๆ มีความยินดีและเต็มใจในการขับเคลื่อนภารกิจตามกฎหมายที่ได้ลงนาม MOU กันในวันนี้ ทั้งขั้นตอนการควบคุมตัวผู้ถูกเฝ้าระวังเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน การนำตัวผู้ถูกเฝ้าระวังไปส่งศาล การพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่ และการสนับสนุนฐานข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร และเราจะไม่หยุดเพียงแค่ภารกิจตาม MOU ด้วยการขับเคลื่อนการเสริมสร้าง "กำลังใจ" ด้วยการวางระบบในการทำให้ผู้ที่จะกระทำผิดซ้ำได้รู้สึกมีคุณค่าที่จะอยู่ในพื้นที่ตำบล/หมู่บ้านที่เขาอาศัย พร้อมทั้งชักชวนให้พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับชีวิตและสังคมโดยรวม เช่น การเสริมสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ การร่วมกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม งานประเพณีต่าง ๆ เพื่อเป็นการเสริมแรงบวก นอกเหนือจากการช่วยกันระแวดระวัง และหากมีเรื่องอื่นใดที่กระทรวงมหาดไทยสามารถช่วยเหลือในกิจกรรมงานกระทรวงยุติธรรมได้ เราพร้อมช่วยสนับสนุนอย่างเต็มกำลังความสามารถ
     
"ในโอกาสอันสำคัญ คือวันที่ 23 มกราคม 2566 ที่จะถึงในอีก 1 เดือนข้างหน้านี้ ผมขอเป็นตัวแทนพี่น้องชาวมหาดไทย ร่วมแสดงเจตจำนงในการส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือและขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำจากผู้กระทำความผิดคดีทางเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ด้วยการร่วมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในวันนี้ เพื่อเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสาธารณชนว่า พวกเราทั้ง 6 หน่วยงานมีความเต็มใจและตั้งใจที่จะช่วยกันทำให้ความตั้งใจของรัฐบาล ภายใต้การขับเคลื่อนของกระทรวงยุติธรรม จะประสบความสำเร็จ เกิดผลดีต่อพี่น้องประชาชน อันจะส่งผลทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
     
ด้าน นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำจากผู้กระทำความผิดคดีทางเพศหรือที่ใช้ความรุนแรงฉบับนี้ มีเจตจำนงที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 6 หน่วยงาน อันประกอบด้วย สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม สร้างความปลอดภัยให้กับสังคม แก้ไขปัญหาและลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำจากผู้กระทำความผิดคดีทางเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง โดยร่วมกันผลักดันในระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างกลไกการดำเนินงานที่มีความเหมาะสมต่อกลุ่มผู้กระทำความผิดในระดับพื้นที่อย่างเชื่อมโยงสอดรับแนวนโยบายรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการดำเนินงานแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างยั่งยืน









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.