สธ. ชู "อภัยภูเบศร" สร้างอาชีพ ด้วยศาสตร์แผนไทย-สมุนไพร ตามนโยบาย Health for Wealth
30 ธ.ค. 2565, 16:29
วันนี้ ( 30 ธ.ค.65 ) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข คือ Health for Wealth นำเรื่องของสุขภาพโดยเฉพาะการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย มาใช้ขับเคลื่อนสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่มีความโดดเด่นด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร มีการพัฒนาและยกระดับงานด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร 3 ประเด็น คือ 1.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness ผ่านกิจกรรมและบริการของ “อภัยภูเบศร เดย์ สปา” และ “ภูมิภูเบศร” 2.การผลิตยาและสมุนไพรไทยสู่สากล โดยโรงงานผลิตยาสมุนไพรและมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่มีการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกรในประเทศ และ 3.การใช้นวัตกรรมสุขภาพและการส่งออก โดยการอบรมความรู้เพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน และการวิจัยพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรและบริการ โดยทั้ง 3 ประเด็น มีการฝึกอบรมภายใต้แนวคิด “สร้างงาน สร้างอาชีพ พึ่งพาตนเอง”
“ในปีงบประมาณ 2565 โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีผลงานเชิงบวกจากการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โดยมีรายได้รวมจากการให้บริการแผนไทย 40 ล้านบาท ส่วนมูลนิธิฯ มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร 600 ล้านบาท มีการสั่งซื้อสมุนไพรจาก 8 กลุ่มเกษตรกร 2.4 แสนบาท จาก 11 กลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ 32.6 ล้านบาท มีผู้ผ่านการอบรมพัฒนาสู่ผู้ประกอบการ 70 คน และเกิดการจ้างงานด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยใน จ.ปราจีนบุรี 375 คน” นพ.โอภาสกล่าว
ด้าน ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า โรงพยาบาลมุ่งเน้นการดูแลแบบองค์รวมโดยใช้หลักของ 3 สมดุลสุขภาพ คือ เจ้าเรือน โครงสร้าง และระบบขับถ่าย โดยงานการแพทย์แผนไทยจะให้การดูแลในเชิงป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาพอย่างครอบคลุมเป็นองค์รวม ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการใช้สมุนไพร ส่วนการตรวจรักษา จะมีหัตถการทางการแพทย์แผนไทยและคลินิกหัตถเวชศาสตร์ที่มุ่งเน้นการให้บริการรักษาเฉพาะโรคอย่างตรงจุด ผ่านหัตถการที่หลากหลาย เช่น การเผายา พอกยา กักน้ำมัน เป็นต้น สำหรับบริการส่งเสริมสุขภาพ มีการพัฒนาเพื่อรองรับกับสถานการณ์สุขภาพปัจจุบันและกระแสสุขภาพ เช่น การดูแลหลังติดเชื้อโควิดด้วยการใช้หัตถการทางการแพทย์แผนไทยและการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ, โปรแกรม Deep Sleep ปรับสมดุลการนอนให้มีคุณภาพ ด้วยการใช้เทคโนโลยีองค์ความรู้และยาสมุนไพร, โปรแกรมการดูแลมารดาหลังคลอด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพมารดาให้กลับมาเป็นปกติพร้อมดูแลบุตร
นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ Health & Wellness Tourism การอบรมเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรภาคประชาชนเพื่อการพึ่งตนเอง เช่น เรื่องอาหารเป็นยา โคกหนองนา “ภัทร-ธรรมรักษ์นิเวศ” ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมพืชสมุนไพรกินได้กว่า 500 ชนิด ถือเป็นโมเดลความยั่งยืนทางธรรมชาติ เพื่อความมั่นคงทางยา อาหารและสุขภาพ โดยนำเสนอเป็นเมนูอาหารที่ดูแลระบบท้องไส้ ได้แก่ 1.ข้าวไรซ์เบอร์รี อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มีเส้นใยสูง จึงช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลและช่วยทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.ทอดมันใบบัวอ่อน ซึ่งใบบัวอ่อนมีสารที่มีคุณสมบัติทำให้หลับสบาย คลายเครียด คนปราจีนบุรีนิยมรับประทานเป็นผักสด ผักจิ้มน้ำพริก ใส่แกงคั่ว เมื่อนำมาผสมกับทอดมันจะช่วยลดความขม ทำให้รับประทานได้ง่ายขึ้น 3.ยำผักเป็ดแดงไก่ฉีก โดยต้นผักเป็ดแดง มีสรรพคุณฟอกและบำรุงโลหิต ในศรีลังกาใช้ต้มเป็นยาแก้ไข้และเป็นอาหารบำรุงของแม่ลูกอ่อน 4.ห่อหมกใบยอ โดยใบยออ่อนมีรสขมเล็กน้อย ช่วยลดความร้อนในร่างกายและมีแคลเซียมสูง 5.แกงส้มผักรวม เป็นเมนูไขมันต่ำ ใยอาหารสูง ดีต่อระบบขับถ่าย รสเผ็ดร้อนจากเครื่องแกงช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี เพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย และ 6.เฉาก๊วย แปะก๊วย รากบัว โดยรากบัวมีรสหวาน มีฤทธิ์เย็น ช่วยบรรเทาอาการร้อนในและกระหายน้ำ