"หมอยง" แนะ! ตั้งการ์ดเตรียมมือโควิด "BQ" ถ่วงเวลาในไทยให้ระบาดช้าที่สุด แม้ความรุนแรงน้อย
3 ม.ค. 2566, 08:32
วันนี้( 3 ธ.ค.66) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ โควิด 19 การรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยระบุว่า จากการศึกษา วิเคราะห์การระบาดของไวรัสโควิด 19 ตั้งแต่สายพันธุ์อังกฤษ หรือ อัลฟา สายพันธุ์เริ่มจากอังกฤษก่อนหลายเดือน ในปลายปี 2563 และถึงแม้ว่าเราปิดบ้านปิดเมือง มีการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศถึง 14 วัน ในที่สุด สายพันธุ์นี้ก็มาระบาดในบ้านเราในเดือนมีนาคม 2564 เช่นเดียวกันกับสายพันธุ์เดลต้า จุดเริ่มต้นที่อินเดีย แล้วไประบาดในยุโรปและอเมริกา เข้าสู่ประเทศไทยหลังจากการระบาดในประเทศทางตะวันตก ขณะนั้นก็มีการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ เช่นเดียวกัน
สายพันธุ์ โอมิครอน ก็เช่นเดียวกันเราเกิดหลังประเทศทางตะวันตกทั้งนั้น ขณะนี้บ้านเราเป็นสายพันธุ์ BA.2.75 ดังรูป ในขณะที่ยุโรปและอเมริกาได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว และขณะนี้ทางอเมริกาและตะวันตกกำลังทั่วโลกมีแนวโน้มจะเข้าสู่สายพันธุ์ BQ.1, BQ.1.1 ดังแสดงในรูป ซึ่งคาดว่าต่อไปของเราก็คงระบาดตามมา สายพันธุ์ดังกล่าวจะดื้อต่อภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น
ในขณะที่การระบาดในประเทศจีนขณะนี้ ยังเป็น BA.5 และลูกของ BA.5 คือ BF.7 ดังแสดงในรูป ที่มีความคล้ายคลึงกับ BA.5 ที่เราได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว หรือ จีนตามหลังเรา คนไทยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อจะมีภูมิต้านทานต่อตัวนี้แล้วเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ประเทศจีน โดยเฉพาะถ้ามีการระบาดในผู้ป่วยจำนวนมาก โอกาสจะเกิดสายพันธุ์ใหม่ก็จะเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักไว้ด้วย
จากเหตุผลตามสายพันธุ์ จะให้ตรวจหรือป้องกัน ขณะนี้เราควรป้องกันสายพันธุ์ BQ มากกว่า BA.5 ที่เราได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว
ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ประเทศต้นทางที่น่าจะตรวจ เพื่อป้องกันสายพันธุ์ใหม่ของเรา ควรจะเป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีในประเทศไทย เพื่อป้องกันการระบาดในประเทศไทยให้ช้าที่สุด
อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ทั้งหมดก็ยังเป็น โอมิครอน ที่ความรุนแรงน้อย และทั่วโลกก็ยอมรับว่า สายพันธุ์นี้ยังระบาดอยู่ทั่วโลก