รอง ผวจ.กาญจน์ ติดตามค้นหา "เสือโคร่ง" หน.เขตฯ สลักพระเผยติดกล้อง 24 ตัว 4 วันแล้ว ยังไม่พบ
10 ม.ค. 2566, 12:17
จากกรณีชาวบ้านพบเสือโคร่งเดินอยู่ที่บริเวณชายป่าทางเดินเข้าไร่มันสำปะหลังท้องที่บ้านท่ากะทิ หมู่ 6 ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้บูรณาการร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ ประกฎว่าพบรอยตีนเสือโคร่งขนาดใหญ่ คาดว่าอายุประมาณ 7-8 ปี
ต่อมานางประนอม เสงี่ยมไพศาล แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า วันที่ 6 ม.ค. 2566 เวลา 04.00 น. พบเสือโคร่ง จำนวน 1 ตัว วิ่งตัดหน้ารถยนต์ของตน เสือตัวดังกล่าวมุ่งหน้าเข้าพื้นที่ป่าหลังมหาวิทยาลัยมหิดลฯ โดยพบเห็นลวดลายเสือโคร่งบริเวณใบหน้าอย่างชัดเจน
ซึ่งจากการติดตามตรวจสอบของคณะเจ้าหน้าที่ ปรากฏพบรอยตีนเสือเดินไปตามขี้เถ้าแนวกันไฟบนป่าภูเขาหลัง มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี หมู่ 9 ต.ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี พิกัด 47P 0516519E 1560633N โดยรอยตีนเสือโคร่งมีขนาดความกว้าง 10 ซม. ยาว 13 ซม. ระยะห่างระหว่างการก้าว 120 ซม.ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดเมื่อเวลา 15.30 น.วันนี้ 9 ม.ค.65 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ห้องประชุมสำนักงานที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ หมู่ 4 บ้านหนองหอย ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้มอบหมายให้ นายศักรินทร์ ทุมเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เดินทางไปติดตามความคืบหน้ากรณีชาวบ้านพบเสือโคร่งในพื้นที่บ้านท่ากะทิ หมู่ 6 ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งในพื้นที่ ป่าภูเขาหลัง มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี หมู่ 9 ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
โดยมีนายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ นายสุพล คำเสนาะ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค นายประวัฒน์ พวงทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ นายไพโรจน์ เขียวแก้ว หัวหน้าหน่วยป้องกัน และพัฒนาป่าไม้ไทรโยค กจ.1 (ท่าเสา) นายวสันต์ สุนจิรัตน์ กำนันตำบลช่องสะเดา พร้อมผู้นำท้องถิ่น ให้การต้อนรับ และร่วมประชุมหารือถึงกรณีการพบเสือโคร่งดังกล่าว โดยการประชุมหารือใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ นายศักรินทร์ ทุมเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยภายหลังว่า จุดประสงค์แรกที่เดินทางมาในวันนี้เพื่อต้องการมาตรวจเยี่ยมหน่วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ โดยตั้งแต่มีข่าวว่าเสือโคร่งพลัดหลงมาในพื้นที่จึงได้มาติดตามและสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งข้อมูลที่ได้มาพบว่ามีการพบเสือและรอยเท้าของเสือโคร่งในเขตพื้นที่บ้านท่ากะทิ ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง และพื้นที่ด้านหลังมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตกาญจนบุรี อำเภอไทรโยค จริง
ซึ่งในวันนี้เราได้นำข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดมาพูดคุยและปรึกษาหารือกันว่า ถ้าเราหรือชาวบ้านไปเจอเสือโคร่งแล้วเราจะทำอย่างไร ซึ่งขณะนี้เราได้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่รู้ว่าถ้าเจอเสือโคร่งแล้วจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อตัวเอง ซึ่งโชคดีที่ทางเขตรักษาพันธุ์ฯได้ดำเนินการติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์เพื่อติดตามดูว่ามีสัตว์ชนิดใดผ่านไปบ้าง รวมทั้งเสือโคร่งที่พบด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการติดตั้งมาแล้ว 4 วัน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่พบเสือโคร่งเดินผ่าน
ซึ่งเราให้ความสำคัญกับชุมชนโดยเฉพาะกำนันและผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งอำเภอเมืองกาญจนบุรี ให้ช่วยกำชับการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจว่าถ้าเจอเสือแล้วจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายในชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง และที่สำคัญขอให้ชาวบ้านอย่าได้ตื่นตระหนกสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เท่าที่ทราบจากกำนันรวมทั้งผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ตำบลช่องสะเดา พบว่าชาวบ้านในพื้นที่เห็นเสือโคร่งอยู่เป็นประจำทุกปี ทำให้ชาวบ้านเกิดความเคยชินไปแล้ว ซึ่งทุกคนไม่ได้ตื่นตระหนกแต่อย่างใด แต่เพื่อความมั่นใจ จึงได้กำชับให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายให้ทราบเป็นระยะๆ ส่านการติดตามความเคลื่อนไหวของเสือโคร่งที่พบ จะให้เจ้าหน้าที่รายงานให้จังหวัดกาญจนบุรี ทราบในทุกๆ 3 วัน
ด้านนายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการติดตามความเคลื่อนไหวของเสือโคร่งที่พบทั้ง 2 อำเภอว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะเจ้าหน้าที่ได้ออกติดตามความเคลื่อนไหวว่าเสือโคร่งที่พบนั้นเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด โดยเริ่มตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอเสือโคร่งที่บ้านท่ากะทิ หมู่ 6 ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมืองกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 4 ม.ค.66 และมาเจอเสือโคร่งอีก 1 ตัวในช่วงเช้ามืดของวันที่ 6 ม.ค.ที่ อำเภอไทรโยค
โดยนายอนันต์ โพธิ์พันธ์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสังกัด สบอ.3(บ้านโป่ง)รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า นำกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของเสือโคร่ง จากการติดตามตั้งแต่บ้านท่ากะทิ หมู่ 6 ตำบลช่องสะเดา ไปจนถึงจุดพบเสือโคร่งในพื้นที่อำเภอไทรโยค เป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร (ระยะทางตามป่าและภูเขา)
สำหรับจุดที่พบเสือโคร่งในพื้นที่บ้านท่ากะทิ ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขานำพุ ได้ติดตั้งกล่องดักถ่ายสัตว์เอาไว้ตามเส้นทางที่คาดว่าเสือโคร่งจะเดินผ่าน จำนวน 8 ตัว แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่พบ ส่วนจุดที่พบเสือบริเวณป่าเขา หลังมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขต กาญจนบุรี ทางกรมอุทยานฯได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ ติดตั้งกล้องดักถ่ายเอาไว้อีก จำนวน 16 ตัว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบเสือโคร่งเดินผ่านกล้องเช่นกัน
ส่วนนายวสันต์ สุนจิรัตน์ กำนันตำบลช่องสะเดา เปิดเผยว่า พื้นที่ตำบลช่องสะเดาของเราที่ผ่านมานั้น เมื่อครบวงรอบช่วงเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี จะพบเสือตัวนี้ผ่านมาในพื้นที่ตำบลช่องสะเดาทุกปี ปละบางปีมาพร้อมกันถึง 2 ตัว โดยเสือจะมาอยู่ในพื้นที่นานเป็นอาทิตย์จากนั้นก็หายไป จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของชาวบ้านไปแล้ว
ที่ผ่านมาเมื่อชาวบ้านเจอร่องรอยตีนเสือ ก็จะมีการบอกต่อทั้งทั้งเฟซบุ๊กและไลน์กลุ่ม ให้ทราบว่าบริเวณนั้นๆมีเสือผ่านเข้ามา ขอให้ทุกคนเฝ้าระวังและหาวิธีหลบหลีกในเวลาที่พบกับตัวเอง แต่ที่ผ่านมาหากพบว่าโซนไหนมีเสือเข้ามาเราก็จะห้ามไม่ให้ชาวบ้านเข้าไป
ตนในฐานะผู้นำชุมชนกล้ายืนยันได้เลยว่า เสือโคร่งที่พบไม่มีอันตรายต่อพี่น้องประชาชนรวมทั้งสัตว์เลี้ยงของประชาชนอย่างแน่นอน เพราะเสือที่พบเป็นการครบวงรอบที่เสือเดินผ่านมาจากนั้นก็หายไป ส่วนนักท่องเที่ยวที่ติดตามข่าวสารว่า ต.ช่องสะเดาหรือจังหวัดกาญจนบุรีมีเสือโคร่งเพ่นพ่านในพื้นที่ เรื่องนี้ขอให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการมาไม่ต้องกังวลใจ เพราะคนในพื้นที่เองไม่มีความกังวลและมีความกลัวอะไรเลย ขอให้นักท่องเที่ยวสบายใจได้ สำหรับเสือตัวที่พบนั้น เคยพบมาแล้วไม่น้อยกว่า 8-9 ปี