เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



​นายกฯ ชื่นชม! ผลงานนักเรียน-โครงการ Equity Partnership’s School Network ต้นแบบสร้างโอกาสทางการศึกษา


17 ม.ค. 2566, 12:12



​นายกฯ ชื่นชม! ผลงานนักเรียน-โครงการ Equity Partnership’s School Network ต้นแบบสร้างโอกาสทางการศึกษา




วันนี้ (17 มกราคม 2566) เวลา 09.00 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำคณะผู้บริหารกองทุนฯ พร้อมด้วยคณะครู นักเรียนโรงเรียนเพียงหลวง 16 จังหวัดเชียงราย โรงเรียนบ้านหนองธง จังหวัดพัทลุง โรงเรียนบ้านนาเกียน จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนนานาชาติ โชรส์เบอรี่ กรุงเทพเข้าพบพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อนำเสนอกิจกรรม “สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและส่งเสริมทักษะชีวิตระหว่างเรียน” ภายใต้โครงการ Equity Partnership’s School Network โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์งานฝีมือของนักเรียนทุนเสมอภาคและเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ ได้แก่ 1) กระเป๋าผ้าใยกัญชง 2) กาแฟอาราบิก้า ผ้าปักอาข่า ชาเลือดมังกร 3) กระเป๋าสะพายและปลอกหมอนอิง 4) เสื้อทอมือกะเหรี่ยงปักลาย 5) กระเป๋าผ้าสะพาย และกระเป๋าผ้าคล้องมือ ปักลายม้งประยุกต์ 6) กระเป๋าผ้าทอมือย้อมคราม 7) ชาไผ่ 3 สูตร 8) สบู่โปรตีนไหมออร์แกนิค 9) หมวกบัคเก็ต ปลอกหมอน 10) กระเป๋าโท้ทแบ็ก 11) เทียนหอมถุงผ้าลายคูบัว และ 12) ผ้าพิมพ์ลาย (Eco Print) พร้อมชมสาธิตการปักผ้าลายชนเผ่าม้ง โดยตัวแทนนักเรียนโรงเรียนเพียงหลวง 16 อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และสาธิตการทำภาพพิมพ์ลายใบไม้ (Eco print) โดยนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ทดลองทำการพิมพ์ผ้าจากสีธรรมชาติด้วยวิธีการทุบใบสักทองลงบนผ้า พร้อมสอบถามถึงการพัฒนาลวดลายอื่น ๆ และการดูแลคุณภาพความคมชัดของลายที่ปรากฏ รวมทั้งการดูแลรักษาป้องกันสีตกหรือปนเปื้อนบนเนื้อผ้าด้วยความสนใจ



“นายกรัฐมนตรีให้กำลังใจและชื่นชมผลงานนักเรียน และโครงการดี ๆ ที่เป็นต้นแบบการสร้างโอกาสทางการศึกษาผ่านความร่วมมือจากสังคม รวมทั้งการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และการใช้เทคโนโลยี โดยหวังว่าโครงการฯ จะช่วยพัฒนาทักษะของนักเรียนให้สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน และหากสามารถขยายผลโครงการลักษณะนี้ได้อย่างต่อเนื่องจะช่วยลดช่องว่างในสังคม เพิ่มโอกาสให้เด็กได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนเองมากขึ้น โดยไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นความร่วมมือร่วมใจจากหลากหลายภาคส่วนในการระดมความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ เติมเต็มความรู้ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้กับเด็ก ๆ” นายอนุชาฯ กล่าว

สำหรับโครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network) เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนทุนเสมอภาคและนักเรียนโรงเรียนนานาชาติได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์งานฝีมือที่ทันสมัยและมีเสน่ห์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อจำหน่ายและสร้างรายได้ สนับสนุนการสร้างทักษะอาชีพให้กับนักเรียน ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา ได้ช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนกว่า 3.5 ล้านคนไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา และมีระบบส่งต่อให้ศึกษาสูงกว่าภาคบังคับจนถึงระดับอุดมศึกษา ขจัดวงจรยากจนข้ามรุ่น ให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบแล้วมากกว่า 40,000 คน กลับสู่การเรียนรู้ พร้อมพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ตามศักยภาพและความถนัดเป็นรายบุคคล เพื่อให้มีงานทำเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ โดยโครงการฯ ได้ดำเนินการต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 5 และสามารถสร้างรายได้กลับคืนสู่โรงเรียนเครือข่าย กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ทั้งยังทำให้เกิดเครือข่ายนานาชาติในการร่วมกันออกแบบกิจกรรมที่มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา อันจะเป็นเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ลดช่องว่างในสังคม พร้อมสร้างความเสมอภาคระหว่างเด็กโรงเรียนในเมืองกับเด็กโรงเรียนต่างจังหวัด โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ปัจจุบันมีสถานศึกษาไทยและนานาชาติ เข้าร่วมโครงการรวม 52 แห่ง


ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจ เลือกซื้อผลงานนักเรียนในโครงการฯ ได้บนแพลตฟอร์ม Shopee โดยรายได้ทั้งหมดมอบให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคในโรงเรียนสังกัด สพฐ. โดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อให้เด็ก ๆ นำไปต่อยอดเพื่อส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะอาชีพในอนาคต






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.