เตรียมประกาศปิดพื้นที่ พบสัตว์ป่าเพิ่มจำนวน มีทั้งเสือโคร่งพันธุ์อินโด ไชนีส-เสือลายเมฆ-กระทิง
19 ม.ค. 2566, 12:05
วันนี้ 19 ม.ค. 66 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายประวุธ เปรมปรีดิ์ หัวหน้าหน่วยควบคุมพื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า พื้นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน ที่ กจ.209 ที่อยู่ในความปกครอง ดูแล และใช้ประโยชน์ของกองพลทหารราบที่ 9 กองทัพบก โดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของ ที่มีสภาพเป็นภูเขาสูงชัน สลับซับซ้อน และมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ในพื้นที่อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี มีความเหมาะสมที่จะประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเป็นอย่างยิ่ง โดยที่การประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่านั้น ไม่กระทบต่อสถานะภาพของสถานะที่ดินเดิม ซึ่งผู้ดูแล และใช้ประโยชน์ในที่ดินยังคงมีอำนาจ หน้าที่เช่นเดิม เป็นมาตรการเพิ่มความผิด มีบทลงโทษที่หนักขึ้นกว่าสถานะของที่ดินเดิม
อีกทั้งจะเป็นการเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเข้ามาช่วยดูแลรักษาป่าไม้ สัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของฝ่ายทหาร พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีเนื้อที่รวมประมาณ 219,000 ไร่ แบ่งเป็น
1.พื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เชื่อมกับอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ดังนั้น ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเชื่อมพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นทางเดินของสัตว์ป่า ซึ่งจะกระจายตัวจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง ลงมายังทางใต้ของผืนป่าตะวันตก ในบริเวณพื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์
2.พื้นที่ส่วนขยายพื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ เดิมพื้นที่ดังกล่าวจะถูกประกาศให้เป็นส่วนขยายของอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ แต่กองทัพบกไม่ยินยอมให้ใช้พื้นที่ และบริเวณนี้พื้นที่ราชพัสดุถูกทับซ้อนด้วยป่าสงวนแห่งชาติป่าโรงงานกระดาษไทยแปลงหก กรมป่าไม้
3.พื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสลอบ พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน ที่ กจ.209 ประชิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งกองทัพบกใช้ในการฝึกภาคสนาม และมีการลาดตระเวน ตรวจพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ แต่การลาดตระเวนดังกล่าวไม่ครอบคลุมการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ โดยเฉพาะทรัพยากรสัตว์ป่า หากพื้นที่บริเวณนี้ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าจะเป็นพื้นที่กันชนให้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุมได้เป็นอย่างดี
พื้นที่ทั้ง 3 แห่ง อยู่ประชิดกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยรอบ จึงมีทรัพยากรสัตว์ป่าอพยพเคลื่อนย้าย และอาศัยอยู่อย่างชุกชุม หากประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จะมีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 บังคับใช้ ในการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์ และป่าต้นน้ำลำธาร
พื้นที่ทั้ง 3 แห่ง ประสบปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ การตัดไม้ การบุกรุกพื้นที่ การเก็บหาของป่า การเลี้ยงปศุสัตว์โดยรอบพื้นที่ และเกิดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า ได้แก่ช้างป่า ซึ่งกองทัพบก และกรมธนารักษ์ ไม่ได้มีหน้าที่ภารกิจโดยตรงสำหรับการบริหารจัดการ เรื่องต่างๆเหล่านี้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างเต็มที่หากพื้นที่ไม่ได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
ปัจจุบันจึงมีแผนการดำเนินงานโดยได้รับความร่วมมือ และสนับสนุนงบประมาณจากองค์การภาคเอกชน ได้แก่องค์การ Panthera ประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจาก Rainforest Trust มูลนิธิสืบนาคะเสถียร WWF ประเทศไทย ZSL ประเทศไทย หวังที่จะปกป้องพื้นที่สามแห่งในผืนป่าตะวันตกทางใต้ เพื่อป้องกันความเสียหายทางระบบนิเวศที่อาจจะเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวในอนาคต
โดยจะขออนุญาตใช้พื้นที่ราชพัสดุทั้ง 3 แห่งนี้ให้ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยองค์กรแพนเทอราเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ได้รับทุนสนับสนุนจาก Rainforest Trust ในการดำเนินโครงการ เพื่อสนับสนุนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการดำเนินการประชาสัมพันธ์ ประชุม กับส่วนราชการต่างๆ และชุมชนที่เกี่ยวข้อง จัดจ้างบุคลากร และการก่อสร้างหน่วยพิทักษ์ป่า และจุดสกัด
รวมทั้งสนับสนุนการฝึกอบรมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol) การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเรื่องเทคนิคการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติและการบันทึกข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ จัดทำเอกสารเผยแพร่ เช่น แผ่นพับ คู่มือ ซื้อรถจักรยานยนต์ 5 คัน สนับสนุนอุปกรณ์สำนักงาน สนับสนุนอุปกรณ์สนาม การลดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตามหลังจากที่ กองทัพบกและ กรมธนารักษ์ ให้ความสำคัญกับพื้นที่ และยินยอมให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าไปช่วยดูแล พบว่าขณะนี้สัตว์ป่าที่กล้องสามารถจับภาพได้นั้นกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นและฟื้นตัวกลับมาแล้ว” นายประวุธ เปรมปรีดิ์ หัวหน้าหน่วยควบคุมพื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี กล่าว