เผยความคืบหน้า 3 เสือโคร่งของกลาง "ข้าว ขิง โขง" ล่าสุดปรับตัวดีขึ้น สัตวแพทย์เตรียมฝังไมโครชิพทำฐานข้อมูล ก.พ.-มี.ค. นี้
24 ม.ค. 2566, 16:40
วันที่ 23 ม.ค. 2566 นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวากสบอ.3 (บ้านโป่ง) รายงานการดูแลเลี้ยงดูและสุขภาพทั่วไป ของลูกเสือโคร่งของกลาง จำนวน 3 ตัว อายุ 3 เดือน (เพศผู้จำนวน 1 ตัว และ เพศเมีย จำนวน 2 ตัว )มีชื่อว่า โขง (ข้ามโขง) ข้าว (มุกดา) และ ขิง (สะหวัน) ที่ทำการรับมอบจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) และกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สอป.สบอ.3 (บ้านโป่ง) และสพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและ
ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก พร้อมเจ้าหน้าที่ได้ทำการดูแลตั้งแต่วันที่ 18 - 23 ม.ค.2566 โดยทำการป้อนนมสำหรับลูกแมว ชนิด KMR โดยวิธีการใช้ขวดนม ทำการให้นมวันละ 5 ครั้งต่อวัน ได้แก่ช่วงเวลา 06.00 น. 11.00 น. 13.00 น. 18.00 น. และ 20.00 น. ปริมาณโดยรวมต่อตัวมื้อละ 250-300 มิลลิลิตร โดยเฉลี่ยแล้ว ลูกเสือทั้ง 3 ตัว กินนมKMR วันละ 1.5 กระป๋อง ( กระป๋องขนาด 340 กรัม )
ทำการให้เนื้อวัว (เนื้อแดง) โดยทำการบดละเอียดด้วยเครื่องบดไฟฟ้า ให้กินวันละ 2 ครั้งต่อวัน ได้แก่ช่วงเวลา 08.00 น. และ 16.00 น. ซึ่งในแต่ละครั้งที่ให้จะทำการผสมนมด้วยเล็กน้อย (ผสมนม KMR 150-200 มิลลิลิตร/มื้อ) ปริมาณเนื้อวัวบดโดยรวมต่อตัวมื้อ ดังนี้
"โขง" เพศผู้ กินเนื้อบดปริมาณ 0.4 กก./มื้อ (กินวันละ 2 มื้อ รวม 0.8 กก.) "ข้าว" และ "ขิง" เพศเมีย กินเนื้อบดปริมาณ 0.3 กก./มื้อ (กินวันละ 2 มื้อ รวม 1.2 กก.)
จากนั้น ทำการปล่อยเดินเล่น เพื่อออกกำลังกาย เพื่อรับแสงแดด และป้องกันสภาวะความเครียด ทุกเช้า เวลา 07.00 - 08.30 น.ลูกเสือโคร่งทั้ง 3 ตัวการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ปกติ มีพฤติกรรมปกติ ร่าเริง คุ้นชินกับสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ และทีมสัตวแพทย์
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2566 ทีมสัตวแพทย์วางแผนฝังไมโครชิฟ เพื่อทำฐานข้อมูลลูกเสือโคร่ง เพิ่มเติม ให้เรียบร้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพลูกสัตว์เป็นหลัก สุขภาพโดยทั่วไปจะต้องดูแลเรื่องของโปรแกรมวัคซีนหัด-หวัดแมว และพิษสุนัขบ้า ตามโปรแกรมให้ครบถ้วน
ภาพ /ข้อมูล : สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร
นายสัตวแพทย์ชำนาญการ