กรมอนามัย เผยฝุ่น PM2.5 แนวโน้มสูงขึ้น แนะปชช.-กลุ่มเสี่ยงป้องกันตนเองเคร่งครัด
26 ม.ค. 2566, 15:42
วันนี้ ( 26 ม.ค.66 ) นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานเฝ้าระวังของกรมควบคุมมลพิษและกรุงเทพมหานคร สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระบบต่างๆ เช่น ระบบตา ผิวหนัง ทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด หากร่างกายได้รับ PM2.5 เข้าไป จะก่อให้เกิดอาการต่างๆ โดยความรุนแรงของอาการมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อย เช่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก มีน้ำมูก แสบจมูก แสบคอ ไอแห้งๆ คันตามร่างกาย มีผื่น อาการ ระดับปานกลาง เช่น ตาแดง มองภาพไม่ชัด เลือดกำเดาไหล เสียงแหบ ไอมีเสมหะ หัวใจเต้นเร็ว และอาการระดับรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย หากพบว่ามีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรืออาการผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ ให้รีบพบแพทย์ทันที
แนะประชาชนควรเฝ้าระวังและป้องกันตนเองจาก PM2.5 โดยติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ จากสื่อหรือช่องทางต่างๆ ในพื้นที่ โดยสังเกตสีเป็นหลัก หากเป็นสีส้มและสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ควรประเมินตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่น มีอาชีพอยู่กลางแจ้งต้องสัมผัสฝุ่นเป็นเวลานาน อาศัยในพื้นที่เสี่ยง เป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด หากใช่ต้องดูแลป้องกันตนเองเป็นพิเศษ ช่วงที่ฝุ่นละอองสูง ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นสูง ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทั้งหน้ากากอนามัย ( N95) หรือสวมหน้ากาก 2 ชั้น ในโรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก ควรสื่อสารสถานการณ์ ให้ความรู้แก่นักเรียนถึงอันตรายและวิธีการป้องกันตนเองที่ถูกต้อง ลดหรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งการเข้าแถวหน้าเสาธงหรือพลศึกษา ส่วนเด็กที่มีโรคประจำตัว หรือเด็กเล็ก ควรได้รับการดูแลจัดให้มีห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียน ส่วนมาตรการปิดโรงเรียนให้แต่ละโรงเรียนประเมินความเสี่ยงรอบด้าน
สำหรับสถานที่ทำงาน หาก PM2.5 อยู่ในระดับสีส้ม อาจพิจารณาให้กลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจเป็นพิเศษ อยู่ในห้องปลอดฝุ่น หรืองานที่สามารถทำงานทางไกลได้ อาจพิจารณาให้ WFH ได้ตามความเหมาะสม