ปลัด มท. ลงพื้นที่นครนายก ร่วมประชุมรับฟังข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ ครั้งที่ 2
28 ม.ค. 2566, 13:50
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมขุนด่าน ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครนายก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุมรับฟังข้อเท็จจริงและให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ในการประชุมคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินงาน โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครั้งที่ 2 โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จังหวัดนครนายก โดยมี นางสุพร ตรีนรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เป็นประธานการประชุม โดย นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายศุภรัตน์ อินทราวุธ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพื้นที่ 1 ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการคณะทำงานฯ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผู้แทนกรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ประชาชนผู้ได้รับประโยชน์ ผู้ได้รับผลกระทบ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชน โดยภารกิจในด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อการดำเนินชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนในระดับพื้นที่ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการน้อมนำแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งได้รับการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จังหวัดนครนายก” เป็นอีกหนึ่งโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำที่สำคัญ ซึ่งตนในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก คนที่ 42 ในช่วงปี พ.ศ. 2553 ได้ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน โดย “คลองมะเดื่อ” เป็นพื้นที่แรกที่ได้ลงไปดูความเป็นอยู่ของประชาชน โดยในอดีตนั้นคลองมะเดื่อมีธรรมชาติและมีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่ก็ต้องเผชิญปัญหาความแห้งแล้งและน้ำป่าอยู่เป็นระยะ ๆ เนื่องจากจังหวัดนครนายกเป็นที่ราบ มีฝนตกบ่อย ประกอบกับเขื่อนขุนด่านปราการชล สามารถกักเก็บน้ำได้ในปริมาณน้อย ทำให้ต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังพบกับปัญหาดินเปรี้ยว ดินเค็ม ในบางพื้นที่ ซึ่งล้วนมีสาเหตุมาจากการบริหารจัดการน้ำทั้งสิ้น
“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชหฤทัยที่แน่วแน่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ปวงชนชาวไทย โดยพระองค์พระราชทานแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระราชวินิจฉัย และพระราชดำรัสเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ สรุปใจความสำคัญได้ว่า ..เวลาน้ำท่วมหรือเวลาน้ำมาก เราพยายามที่จะระบายน้ำให้ออกไปจากพื้นที่เร็ว ๆ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ แต่พอสูบน้ำ ระบายน้ำออกไปเสร็จแล้ว จากพื้นที่ที่มีน้ำท่วมก็กลายเป็นไม่มีน้ำให้ใช้ในการทำการเกษตรหรือการประกอบอาชีพ ถ้าหากว่าเราสามารถเก็บน้ำหน้าฝนไว้ใช้ในหน้าแล้ง และมีแหล่งพักน้ำไม่ให้น้ำไหลบ่าท่วมในพื้นที่ได้ ก็จะได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือ ช่วยป้องกันน้ำท่วมในหน้าฝน และป้องกันน้ำแล้งในหน้าแล้งได้ด้วย และพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะฯ ณ สวนจิตรลดา 17 มีนาคม 2529 ความว่า "...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภคน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้..." พร้อมทั้งพระราชทานทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ก่อเกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นโครงการที่เกี่ยวกับน้ำ เป็นศาสตร์พระราชาในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ จากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ดังคำว่า “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” จึงเป็นที่มาของโครงการฝนหลวง การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ การทำแก้มลิง ฝายแม้ว ห้วย หนอง คลอง บึง นำไปสู่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ที่กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริ มาเพื่อทำให้ประชาชนสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต ตลอดถึงฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ป่าไม้ สัตว์ป่า สิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติ ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่ทะเล ซึ่งนับเป็นความโชคดีของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครนายก และพื้นที่ใกล้เคียงที่เรามี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระผู้ทรงเป็น “เจ้าฟ้านักพัฒนา” ทรงเป็นประดุจแสงสว่างให้กับพวกเราทุกคน โดยทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนองพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกทุกคน ในการช่วยเหลือดูแลประชาชนทุกคนให้ได้มีน้ำกิน น้ำใช้ ทั้งการอุปโภค บริโภค การประกอบสัมมาชีพเกษตรกรรม และการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะน้ำคือชีวิต คือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของมนุษย์ อันจะยังประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทย และประโยชน์อย่างมหาศาลในการพัฒนาผืนแผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง แผ่นดินแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า การสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อ จังหวัดนครนายก ได้มีการกำหนดข้อตกลงในการก่อสร้าง คือ จะมีการปลูกป่าทดแทนให้มีมากกว่าเดิม 3 เท่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกอาจจะส่งผลกระทบในบางส่วน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป 5-6 ปี พืชยืนต้นที่มีอายุ 4-5 ปีก็จะขึ้นมาทดแทน ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศได้รับการฟื้นฟูกลับมา เกิดเป็นความหลากหลายทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน ดังนั้น ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการประสานความร่วมมือในการดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ได้มีพื้นที่ที่เป็นคุณประโยชน์ในการดำรงชีวิต นั่นคือ ที่กักเก็บน้ำที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำหลาก แก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ด้วยการเอาน้ำมาเจือจาง ทำให้สามารถปลูกพืชยืนต้น พืชผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนได้ ส่งผลถึงอนาคต คือ ความเป็นอยู่ที่ดีของลูกหลานอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันพิจารณาถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งข้อดีและข้อเสีย เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณภาพชีวิตในอนาคตของจังหวัดนครนายก และจังหวัดใกล้เคียง
นางสุพร ตรีนรินทร์ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 กรมชลประทานได้ศึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบนแล้วเสร็จ จากผลการศึกษาได้เสนอแนะให้มีการก่อสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชล และเขื่อนคลองมะเดื่อ ต่อมา ปี พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้รับการตั้งเป็นมรดกโลก เป็นอุทยานแห่งแรกในประเทศไทย โดยใช้ชื่อกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และต่อมาในปี พ.ศ. 2561 กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ อ่างเก็บน้ำใสน้อย - ใสใหญ่ และอ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร โดยดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินโครงการในเขตจังหวัดนครนายก และจังหวัดปราจีนบุรีให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน จึงได้มีจัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาหารือในครั้งนี้