เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ ขอความร่วมมือภาคเอกชน ร่วมสร้างการรับรู้และแนวทางการปฏิบัติเรื่องการแยกขยะ ตามแนวนโยบาย BCG ของรัฐบาล


30 ม.ค. 2566, 08:31



นายกฯ ขอความร่วมมือภาคเอกชน ร่วมสร้างการรับรู้และแนวทางการปฏิบัติเรื่องการแยกขยะ ตามแนวนโยบาย BCG ของรัฐบาล




วันที่ 30 มกราคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการดำเนินงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งนโยบายหลักของ BCG Economy Model ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและมุ่งเน้นให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านการใช้พลาสติก ที่ส่งเสริมให้นำไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในปีที่ผ่านมาพบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยรวมถึงขยะบรรจุภัณฑ์ยังคงมีปริมาณสูงเกือบ 25 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญต่อประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในส่วนของประเภทบรรจุภัณฑ์พบว่า กลุ่มที่บรรจุเครื่องดื่มยังคงมีปริมาณการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ที่ยังคงมีปริมาณสูง จึงขอความร่วมมือภาคเอกชน ได้ช่วยสร้างการรับรู้และแนวทางการปฏิบัติเรื่องการแยกขยะ ตามแนวนโยบาย BCG ของรัฐบาล “รัฐบาลคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน นายกรัฐมนตรีจึง ขอเชิญชวนภาคเอกชนร่วมกันศึกษา และพัฒนาแนวทางการจัดการด้านขยะพลาสติกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมและผลักดันการจัดการด้านขยะพลาสติก สร้างพฤติกรรมการคัดแยกขยะพลาสติกที่ถูกวิธี และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากขยะพลาสติก เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและในเชิงธุรกิจ ซึ่งจะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Economy Model และบรรลุตามเจตนารมณ์ของประเทศในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)” นายอนุชาฯ กล่าว



นายอนุชาฯ กล่าวด้วยว่า ไทยตั้งเป้านำขยะพลาสติก 7 ชนิดกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 ขณะที่การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมขยะพลาสติก ซึ่งจะจัดทำร่างให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567 โดยจะเป็นการออกมาตรการและกฎระเบียบเพื่อควบคุมการผลิตและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมีหลักการจัดการพลาสติกตลอด Life Cycle ตั้งแต่การออกแบบ ผลิต การใช้งานและการจัดการหลังการใช้งานเสร็จแล้ว ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้ประเทศไทยมีสตาร์ตอัพภาคเอกชนที่ร่วมมือกันนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI มาใช้ตรวจสอบคุณภาพวัสดุ คัดแยกประเภทบรรจุภัณฑ์ พัฒนานวัตกรรมคืนขวด “เซอร์คูล่าร์วัน (CircularOne)” ตู้คืนขวด นวัตกรรมรับผิดชอบต่อโลก ที่เปิดให้ประชาชนนำขวดชนิดต่าง ๆ เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว รวมถึงกระป๋องอะลูมิเนียมจากการใช้แล้วมาหยอดในตู้เพื่อนำไปรีไซเคิล โดยมีจุดเด่นคือ ขวดที่นำมาหยอดตู้สามารถแลกเป็นเงินคืนให้กับผู้หยอดได้ ซึ่งเมื่อหยอดขวด-บรรจุภัณฑ์ใส่ในตู้ดังกล่าว จะสามารถเลือกรับเป็นเงิน หรือรับคะแนนสะสมเพื่อไปแลกรับส่วนลดจากร้านค้า หรืออื่น ๆ ผ่านการแสกนคิวอาร์โค้ด โดย CircularOne เป็นนวัตกรรมรับคืนบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปรียูสและรีไซเคิลแบบอัตโนมัติ หรือ Reverse Vending Machine รุ่นแรกของประเทศไทย ซึ่งมีความสามารถรับคืนขวดพลาสติกใส กระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้ว และไปจัดเก็บ คัดแยกประเภท ไว้ในสภาพสมบูรณ์ โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดขั้นตอน และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการคัดแยกขวดบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น และตอบโจทย์เรื่องการส่งขวดไปรียูสที่โรงงาน สามารถช่วยลดขั้นตอนการผลิตของโรงงานได้อีกด้วย


ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกำหนดคุณลักษณะของเศษพลาสติกที่เหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล เพื่อให้ประชาชน รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องรับทราบและใช้เป็นแนวทางในการคัดแยก รวบรวมเศษพลาสติก ที่มีคุณลักษณะเหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล ซึ่งมีทั้งหมด 7 ประเภท ซึ่งจะมีตัวอักษร ข้อความ ตัวเลข และเครื่องหมาย ที่ระบุชนิด/ประเภท ของพลาสติก ดังนี้
1. พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE/PET) เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันพืช ขวดน้ำปลา
2. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-density Polyethylene : HDPE) เช่น ขวดแชมพู ขวดแป้งเด็ก ขวดนม ขวดน้ำยาล้างจาน ขวดน้ำยาซักผ้า
3. พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC) เช่น ท่อน้ำ สายยาง หนังเทียม ฉนวนหุ้มสายไฟ แฟ้มใส่เอกสาร บัตรพลาสติก
4. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density Polyethylene : LDPE) เช่น ฟิล์มยืดหุ้มสินค้า ถุงขนมปัง ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ
5. พอลิพรอพิลีน (Polypropylene : PP) เช่น ถ้วยบะหมี่กึ่งสําเร็จรูปแบบแข็ง ภาชนะบรรจุอาหาร ถ้วยโยเกิร์ต ถุงร้อน หลอดดูด
6. พอลิสไตรีน (Polystyrene : PS) เช่น ภาชนะโฟม กล่องใส ช้อน ส้อม พลาสติก
7. พลาสติกอื่น ที่ไม่ใช่ 6 ชนิดข้างต้น (โดยจะมีชื่อของพลาสติกนั้น ไว้ใต้สัญลักษณ์เบอร์ 7) และเป็นพลาสติกแข็งที่ใช้ซ้ำได้ เช่น Polycarbonate (PC) เคสโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ชิ้นส่วนรถยนต์ชิ้นส่วนนาฬิกา Acrylonitrile butadiene styrene (ABS) กันชนรถยนต์






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.