เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ยูเอ็น" เตือนโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น "กรุงเทพ" เสี่ยงจมบาดาล 


28 ก.ย. 2562, 12:42



"ยูเอ็น" เตือนโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น "กรุงเทพ" เสี่ยงจมบาดาล 





 
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) เผยรายงานพิเศษว่าด้วยมหาสมุทรและส่วนของโลกที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง (Cryosphere) ในภาวะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง พบว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นล้วนส่งผลร้ายแรงต่อมหาสมุทร ไม่ว่าจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำแข็งละลาย และสัตว์ทะเลย้ายที่อยู่

ที่ประชุม IPCC เผยว่าการวิจัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจลงลึกไปทั่วทุกซอกมุมของโลก ตั้งแต่ภูเขาที่สูงที่สุด แถบขั้วโลกที่ไกลที่สุด ไปจนถึงส่วนที่ลึกที่สุดของมหาสมุทร และแม้แต่พื้นที่สุดพิเศษเหล่านี้ก็ยังปรากฏว่าได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยน้ำมือมนุษย์

 

น้ำแข็งละลาย

อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นตัวเร่งให้น้ำแข็งขั้วโลกทั้งในกรีนแลนด์ทวีปแอนตาร์กติก และทวีปอาร์กติกละลายอย่างรวดเร็ว แต่ที่น่าห่วงคือ แผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์ที่ละลายเร็วที่สุด เนื่องจากหากน้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายทั้งหมดน้ำทะเลอาจสูงขึ้นถึง 6 เมตร โดยนักวิจัยเผยว่าหากมนุษย์ยังไม่หยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นอีก 1.1 เมตรภายในปี 2100 หรืออีก 81 ปีข้างหน้า

 

นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่าประชากรโลกราว 680 ล้านคนทั่วโลกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่ำตามแนวชายฝั่งต้องเผชิญกับน้ำท่วมอย่างน้อยปีละครั้ง ภายในปี 2050 จากข้อมูลขององค์กรเคลื่อนไหวแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ C40 CITIES เมืองใหญ่ทั่วโลกเสี่ยงน้ำท่วม เช่น กรุงเทพมหานคร จาการ์ตา ธากา เชนไน มุมไบ เซี่ยงไฮ้ อิสตันบูล ลอนดอน นิวยอร์ก ลิมา บัวโนสไอเรส รวมทั้งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เป็นต้น และประเทศหมู่เกาะบางแห่งจะไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไปหลังปี 2100

 

 

น้ำทะเลร้อน

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1970 เพราะมหาสมุทรดูดซับความร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้นไว้มากกว่า 90% ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา และยังมีอัตราการดูดซับความร้อนเพิ่มเป็นสองเท่ามาตั้งแต่ปี 1993 ส่งผลให้มหาสมุทรมีภาวะความเป็นกรดจนปะการังเกิดภาวะฟอกขาวตาย ตามมาด้วยการย้ายที่อยู่ของสัตว์ทะเลที่ทำให้บางพื้นที่อย่างอาร์กติกมีปลาเพิ่มขึ้น แต่ในพื้นที่เขตร้อนอาหรทะเลจะหายากขึ้น สำหรับประชากรโลกหลายล้านคนที่พึ่งพาอาหารทะเล ผลการวิจัยนี้ถือว่าน่ากังวลมาก

นักวิทยาศาสตร์ยังเตือนอีกว่า แม้แต่คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตอนในของโลกก็จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเช่นกัน

 



ชั้นดินเยือกแข็ง

ชั้นดินเยือกแข็ง หรือ Permafrost ที่พบในแถบไซบีเรียและตอนเหนือของแคนาดาเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แหล่งใหญ่ และหากเราไม่สามารถหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นได้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าชั้นดินเยือกแข็งราว 70% จะละลาย ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นับล้านๆ ตันและก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ร้ายแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์หลายร้อยเท่าถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศภายในปี 2100

 

ทางแก้เพื่ออนาคต

แม้บางอย่างจะไม่สามารถย้อนกลับมาได้แล้ว อาทิ ธารน้ำแข็งที่หายไปอย่างธารน้ำแข็งอัลไพน์ของสวิตเซอร์แลนด์ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เคยหนาวจับใจ แต่วันนี้ชาวสวิสต้องมาไว้อาลัยธารน้ำแข็งที่หายไป) แต่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่าหากมนุษย์ร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง หายนะบางอย่างอาจไม่รุนแรง เช่น นักวิทยาศาสตร์คาดว่าภายในปี 2100 น้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นปีละ 1.5 เซนติเมตร แต่หากลดการปล่อยก๊าซลง น้ำทะเลจะสูงขึ้นเพียงปีละ 4 มิลลิเมตร







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.