นายกฯ หารือ ทูตลักเซมเบิร์กฯ เห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือรอบด้าน
2 ก.พ. 2566, 16:14
วันนี้ ( 2 ก.พ.66 ) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายแพทริก เฮมเมอร์ (H.E. Mr. Patrick Hemmer) เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กฯ ยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลักเซมเบิร์กดำเนินไปอย่างราบรื่นและใกล้ชิด พร้อมทั้งชื่นชมความมุ่งมั่นของเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กฯ ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลักเซมเบิร์กอย่างแข็งขัน รัฐบาลไทยพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กฯ อย่างเต็มที่ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กฯ ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ยินดีที่ได้ดำรงตำแหน่งประจำประเทศไทย พร้อมทั้งชื่นชมพลวัตในความร่วมมือระหว่างไทยกับลักเซมเบิร์กในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กฯ เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายยังสามารถเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านอวกาศ ดาวเทียม ด้านการเงิน และความร่วมมือทางด้านวิชาการ ซึ่งลักเซมเบิร์กมีความเชี่ยวชาญ และพร้อมร่วมมือกับฝ่ายไทยอย่างใกล้ชิด โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์กได้ฝากความปรารถนาดีมาถึงนายกรัฐมนตรี และยินดีกับความสำเร็จของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ผ่านมา และชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่สามารถผลักดัน Bangkok Goals ซึ่งครอบคลุมแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ให้เป็นแนวปฏิบัติร่วมกันได้
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ได้แก่
ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ไทยและลักเซมเบิร์กยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณภาคเอกชนลักเซมเบิร์กที่ให้ความเชื่อมั่นลงทุนในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้เชิญคณะนักธุรกิจภายใต้หอการค้าลักเซมเบิร์กเดินทางเยือนไทย ภายหลังต้องเลื่อนกำหนดการออกไป จากสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนขอให้ฝ่ายลักเซมเบิร์กพิจารณาเพิ่มพูนการลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งนี้ รัฐบาลไทยเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นเข็มทิศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป (European Green Deal) จึงเห็นเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อมระหว่างกันและลงทุนในธุรกิจสีเขียวได้ ด้านเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กฯ พร้อมผลักดันให้มีความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น และแจ้งข่าวดีว่า บริษัท คาร์โกลักซ์ (Cargolux) ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศของลักเซมเบิร์ก ได้มีการปรับเพิ่มเที่ยวบินในไทยมากขึ้นด้วยแล้ว
ด้านการเงินและนวัตกรรม ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ความร่วมมือด้านการเงินระหว่างไทยและลักเซมเบิร์กมีพลวัตสูงโดยหน่วยงานด้านการเงินของทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกันนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องขยายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ถ่ายทอดองค์ความรู้และการฝึกอบรมด้านการเงิน โดยเฉพาะเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) ระหว่างกันมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กฯ ขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาประเด็นเรื่องการแก้ไขอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ พ.ศ. 2539 ตลอดจน เอกอัครราชทูตฯ เห็นว่าการผลักดันการจัดทำความตกลงด้านประกันสังคมจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป
ด้านความร่วมมือไตรภาคี นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยและลักเซมเบิร์กมีความร่วมมือไตรภาคีที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะในสาขาสาธารณสุข ทั้งนี้ ไทยพร้อมขยายผลความร่วมมือไตรภาคีกับลักเซมเบิร์กในสาขาอื่น ๆ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากทั้งไทยและลักเซมเบิร์ก นอกจากนี้ ไทยพร้อมหารือความเป็นไปได้กับลักเซมเบิร์ก ในการเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาภายใต้เสาหลักที่ 3 ของกรอบ ACMECS พร้อมทั้งขยายความร่วมมือไปยังประเทศสมาชิกในกรอบ ACMECS และ ASEAN ผ่านนโยบาย Thailand+1
สำหรับความร่วมมือในกรอบพหุภาคี นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยและสหภาพยุโรป สามารถบรรลุการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) พร้อมขอให้ลักเซมเบิร์กช่วยเร่งรัดกระบวนการให้สัตยาบันต่อ PCA เพื่อให้ PCA มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับโดยเร็ว ตลอดจนขอให้ลักเซมเบิร์กช่วยสนับสนุนการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย – สหภาพยุโรป