นายกฯ ร่วมกิจกรรมวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ สร้างความตระหนักต่อภัยออนไลน์ที่เกิดกับเด็กและเยาวชน
7 ก.พ. 2566, 11:38
วันนี้ (7 ก.พ.66) เวลา 08.40 น ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมประชาสัมพันธ์กิจกรรมสร้างความตระหนักรู้วันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ (Thailand Safer Internet Day) เพื่อสร้างความตระหนักต่อภัยออนไลน์ที่เกิดกับเด็กและเยาวชน และให้ความรู้ เรื่องการใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัยสร้างสรรค์ พร้อมกับการประชาสัมพันธ์กิจกรรมการส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ตรงกับวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยสากล หรือ Safer Internet Day โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภาคเอกชน กองทุนสื่อสร้างสรรค์ และภาคีเครือข่ายจัดขึ้น โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำเยี่ยมชม พร้อมด้วยนางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย นายสันติ ศิริธีราเจษฎ์ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย (UNICEF) และนายธนวัฒน์ พรหมโชติ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ผู้แทนเด็กและเยาวชน ร่วมกิจกรรมด้วย
จากผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ประจำปี 2565 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ดำเนินการร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ในการสำรวจเด็กอายุ 9-18 ปี จำนวน 31,965 คน จาก 77 จังหวัด พบว่า เด็กไทยมีความเสี่ยงภัยออนไลน์สูงมาก เด็ก 81% มีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง และ 85% ใช้โซเชียลมีเดียทุกวัน เด็ก 50% เข้าถึงสื่อลามกอนาจารออนไลน์ ในจำนวนนี้ 60% เป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก 36% เคยถูกจีบออนไลน์ การถูกละเมิดทางเพศ ไซเบอร์บูลลี่ เสพติดเกม การพนัน และความรุนแรง เป็นปัญหาหลัก ๆ ในการใช้สื่อออนไลน์ที่เด็กและเยาวชนไทยกำลังเผชิญอยู่
ทั้งนี้ พม. โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน มีศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ โคแพท (COPAT) ที่ทำหน้าที่ประสานการขับเคลื่อนงานทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ เพื่อให้เด็กเยาวชนใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัยสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อคุ้มครองเด็กที่ได้รับผลกระทบจากภัยออนไลน์ เมื่อได้รับแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1300 และแอปพลิเคชัน “คุ้มครองเด็ก” นอกจากนี้มีการผลักดันการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอาญา เพื่อเพิ่มฐานความผิดใหม่ ๆ เช่น การล่อลวงเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ หรือ grooming การข่มขู่แบล็กเมลทางเพศ หรือ sextortion การระรานทางออนไลน์ หรือ cyber bullying กฎหมายใหม่นี้จะช่วยปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่บนโลกออนไลน์