งดงาม ! เปิดคลิป “นกหว้า” พญาระกาแห่งป่าใต้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง
7 ก.พ. 2566, 17:28
เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยคลิปของ “นกหว้า” พญาระกาแห่งป่าใต้ หลังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง เก็บภาพจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าในพื้นที่ พร้อมให้ข้อมูลว่า
นกหว้า (Great Argus) อยู่ในวงศ์ Phasianidae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Argusianus argus
ลักษณะ : เป็นนกขนาดใหญ่ ความยาววัดจากปลายปากถึงปลายหางประมาณ 76 - 200 เซนติเมตร ไม่มีเดือย จัดอยู่ในสัตว์ปีกจำพวกไก่ฟ้าของไทย ตัวผู้มีความสวยงามมากกว่าตัวเมีย ตัวสีน้ำตาลปนเทา ขนปีกยาว มีจุดกลมคล้ายลูกตาบนปีกเป็นระยะตามความยาวของขนปีก กลางหัวมีขนเป็นหงอน หรือสันเล็ก ๆ หน้าและคอสีฟ้า ปากเหลือง แข้งและตีนสีแดง ตัวผู้มีขนหางคู่กลางยาวเลยเส้นอื่นออกไปมาก ส่วนตัวเมียจะไม่มี เป็นนกประจำถิ่นซึ่งค่อนข้างหายาก ได้รับสมญานามว่า เจ้าไก่ป่าแห่งเมืองใต้
ถิ่นอาศัย : พบในสุมาตรา บอร์เนียว เทือกเขาตะนาวศรีประเทศไทยพบทางภาคใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปตลอดแหลมมลายู ในป่าทึบ ป่าดงดิบชื้น ในระดับเชิงเขา จนกระทั่งความสูง 900 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในพื้นที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สามารถพบได้ทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาบรรทัด อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง และอุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรี โดยเฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง ถือว่าเป็นนกที่พบกระจายทั่วพื้นที่ และมีจำนวนมาก
อาหาร : อาหาร ได้แก่ เมล็ดพืช ผลไม้ที่หล่นตามพื้นดิน แมลง ตัวหนอน ไส้เดือน ปลวก สัตว์เล็ก ๆ ตามพื้น
พฤติกรรม : ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบและป่าลึก ในระดับเชิงเขาจนกระทั่งถึงระดับความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นนกขี้อาย ไม่ชอบให้ใครพบเห็น ออกหากินตอนกลางวัน ตัวผู้และตัวเมียมีเสียงร้องแตกต่างกัน จะได้ยินเสียงร้องทั้งกลางวันและกลางคืน มีเสียงร้องดังมาก มักได้ยินเสียงร้องมากกว่าเห็นตัว เสียงที่ร้องดัง “ว้าว ว้าว” บางครั้งร้องได้ถึง 30 ครั้ง ได้ยินไปทั่วป่า
ปกติชอบอยู่โดดเดี่ยว นอกจากในฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้มีอุปนิสัยป้องกันอาณาเขตโดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า ลานนกหว้า ซึ่งเป็นพื้นที่เกือบจะเป็นวงกลม รัศมี 6-8 เมตร โดยนกหว้าจะทำความสะอาด ด้วยการเก็บหรือจิกเศษใบไม้ออกจากบริเวณนี้ตลอดเวลา ด้วยอุปนิสัยดังกล่าวจึงถูกพรานพื้นเมืองล่าได้ง่าย ตัวเมียจะอยู่โดดเดี่ยวไม่มีลานดังกล่าวเหมือนกับตัวผู้ แต่จะไปที่ลานเพื่อผสมพันธุ์ ซึ่งตัวผู้จะเกี้ยวพาราสีด้วยการแพนปีก คล้ายนกยูงแพนหาง ผสมพันธุ์ตลอดทั้งปี ยกเว้นในช่วงฤดูฝนซึ่งมีฝนตกหนัก
สถานภาพปัจจุบัน : นกหว้า จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทนกในลำดับที่ 762 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2562 The IUCN Red List of Threatened Species จัดให้อยู่ในกลุ่ม Vulnerable (VU) : มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์
ภาพถ่าย : กล้องดักถ่ายภาพ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง