เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



พล.อ.ประยุทธ์ ต้อนรับ นายกฯมาเลเซีย ผลักดันร่วมมือทุกมิติโดยเฉพาะการค้า-ชายแดน


9 ก.พ. 2566, 19:45



พล.อ.ประยุทธ์ ต้อนรับ นายกฯมาเลเซีย ผลักดันร่วมมือทุกมิติโดยเฉพาะการค้า-ชายแดน




วันนี้ ( 9 ก.พ.66 ) เวลา 16.30 น. ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (The Honourable Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย
 
โดยผู้นำไทยและมาเลเซียได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีมาเลเซียไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน ก่อนหารือข้อราชการเต็มคณะ ในเวลา 17.20 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยฝ่ายไทยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วม ดังนี้
 
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พลเอก สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรียินดีและเป็นเกียรติที่ได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และคณะผู้แทน ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนภาคพื้นทวีป สะท้อนความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ (Natural Strategic Partners) และการเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดในครอบครัวอาเซียน โดยการเยือนในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน และผลักดันโครงการที่คั่งค้างให้มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมวิสัยทัศน์ “มาเลเซีย มาดานี” (Malaysia Madani) ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความก้าวหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาลไทย และเป็นพื้นฐานที่สำคัญในความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งนี้ รัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น 
 
นายกรัฐมนตรีมาเลเซียขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยที่ต้อนรับอย่างอบอุ่น ยินดีที่ไทยและมาเลเซียมีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในทุกมิติ โดยไทยถือเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและเป็นมิตรประเทศที่สำคัญของมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมาเลเซียชื่นชมความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีในการส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือระหว่างกันให้มีก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมาเลเซียพร้อมให้ความร่วมมือกับฝ่ายไทยอย่างเต็มที่เช่นกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียชื่นชมศักยภาพของไทยในด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร และการแสวงหาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนจากนานาประเทศ โดยมาเลเซียพร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีจากไทย และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
 
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้หารือร่วมกันในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
 
การส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่โอกาสทางเศรษฐกิจร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องวางรากฐานพื้นที่บริเวณชายแดนให้เป็น “เสาหลักแห่งความมั่งคั่งร่วมกัน” (pillar of prosperity) พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และ 4 รัฐภาคเหนือของมาเลเซีย ให้มีความสงบสุข มั่งคั่ง มีความเจริญ เป็น “แผ่นดินทอง” (golden land) ที่แท้จริง โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งรัดโครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนที่สำคัญให้มีความคืบหน้า ได้แก่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนไทยและมาเลเซีย โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่ของไทยกับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย และการก่อสร้างสะพานสุไหงโก-ลก – รันเตาปันยัง แห่งที่ 2 ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการค้าข้ามแดน กระตุ้นเศรษฐกิจไทยและมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียพร้อมร่วมมือกับฝ่ายไทยอย่างใกล้ชิด โดยมาเลเซียจะเร่งดำเนินการลดอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้โครงการเหล่านี้มีความคืบหน้าและประชาชนของทั้งสองประเทศจะได้ใช้ประโยชน์โดยเร็ว 
 
สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้และความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นการสร้างความมั่นคงควบคู่กับการพัฒนาอย่างรอบด้าน บนพื้นฐานของการเคารพความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ตามหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และพยายามดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมแลกเปลี่ยนระดับเยาวชนระหว่างทั้งสองประเทศ 2) ความมั่นคง โดยมีเป้ามายหลักในการยุติความรุนแรงในพื้นที่ และ 3) การพูดคุยเพื่อสันติสุข โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ ทางด้านนายกรัฐมนตรีมาเลเซียพร้อมมีความร่วมมือกับฝ่ายไทย ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลและบูรณาการด้านข่าวกรองระหว่างกัน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับประสิทธิภาพความมั่นคงชายแดน ซึ่งจะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน อันเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี
 
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการค้ามูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 โดยให้ความสำคัญกับการขจัดหรือลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนทั้งระบบ พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากกลไกที่มีอยู่ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะด้านความมั่นคงพลังงาน และการซื้อขายพลังงาน รวมถึงความร่วมมือในสาขาใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีมาเลเซียพร้อมขยายความร่วมมือกับฝ่ายไทยมากขึ้น รวมถึงความร่วมมือในการส่งออกน้ำมันปาล์ม 
 
สำหรับประเด็นการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket ของไทย นายกรัฐมนตรีขอให้มาเลเซียสนับสนุนไทยในการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวด้วย ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังไม่เคยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานในระดับ Expo ตลอดจนเป็นพื้นที่ให้ทุกประเทศได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม นำเสนอจุดแข็งของตัวเอง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียพร้อมให้การสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ โดยเห็นว่าจังหวัดภูเก็ตของไทยมีความพร้อมในทุกด้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวหลายครั้ง เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง 
 
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันในการกระชับความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับผลกระทบจากความท้าทายในสถานการณ์โลก



 







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.