นายกฯ เดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เสริมภาพลักษณ์ประเทศตามนโยบาย Soft Power
13 ก.พ. 2566, 09:44
(วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบและยินดีที่ ประเทศไทยเป็นสถานที่ยอดนิยมที่ต่างประเทศมักเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ ทำให้สถานที่สวยงามของไทยเป็นที่รู้จัก เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ รวมทั้งยังมีส่วนในการกระจายรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศไปในโอกาสเดียวกันด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากรายงานของกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า ในปี 2565 มีการถ่ายทำภาพยนต์ต่างประเทศในประเทศไทยถึง 348 เรื่อง โดยเดือนกันยายน และพฤศจิกายน 2565 มีการถ่ายทำสูงสุดที่ 42 เรื่อง ในขณะที่ล่าสุด เดือนมกราคม 2566 มีการถ่ายทำไปแล้วถึง 34 เรื่อง สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 298.11 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2566)
นอกจากนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย ภาครัฐยังได้ให้การสนับสนุนเป็นสิทธิประโยชน์ในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) ตามมติ ครม. (7 ก.พ. 2566) ร้อยละ 20-30 เป็นระยะเวลา 2 ปี สิทธิประโยชน์หลักอยู่ที่ร้อยละ 20 เมื่อมีการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 10
นอกจากนี้ยังมีการปรับเพิ่มการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาท/เรื่อง เป็น 150 ล้านบาท/เรื่อง จะทำให้เพดานเงินลงทุนสร้างภาพยนต์ต่อเรื่องเพิ่มเป็น 750 ล้านบาท จากเดิม 375 ล้านบาท เพื่อเป็นการรับกับแนวโน้มที่คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาในไทยเป็นผู้สร้างรายใหญ่ เงินทุนสูง โดยเฉพาะภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์
ทั้งนี้ ในปี 2565 ที่ผ่านมา จังหวัดสถานที่ถ่ายทำยอดฮิตของกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต สมุทรปราการ เชียงใหม่ และพังงา โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย รวมถึงในการจ่ายเงินคืนให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างชาติ โดยในช่วง 7 ปี (พ.ศ. 2560-2566) มีภาพยนตร์จำนวนกว่า 45 เรื่องที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย นำรายได้เข้าประเทศเกือบ 9 พันล้านบาท หมุนเวียนเศรษฐกิจในอัตราทวีคูณถึงกว่า 17,000 ล้านบาท
“นายกรัฐมนตรีเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนมาจากความเชื่อมั่นในอดีตที่ผ่านมา ไทยมีศักยภาพของสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีความหลากหลาย ความสามารถของบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เสริมภาพลักษณ์ประเทศตามนโยบาย Soft Power ทั้งนี้ รัฐบาลเชื่อมั่นว่า มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยจะเป็นอีกหนึ่งในมาตรการที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศและคุ้มค่า เพราะรายได้ที่ได้รับจะส่งถึงประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำทั่วประเทศ” นายอนุชาฯ กล่าว