นายกฯ ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันรัฐบาลแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง
16 ก.พ. 2566, 15:04
วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 12.20 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กรณีการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ซึ่งนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีชี้แจงกรณีการแก้ไขปัญหายาเสพติด รัฐบาลได้เริ่มต้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย โดยได้มีการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแต่ช้ำซ้อนกัน จาก 24 ฉบับให้เหลือเพียงฉบับเดียว ซึ่งจะทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น เป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 9 ธันวาคม 2564 ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการมาตรการด้านการปราบปราม จับกุมและขยายผลไปสู่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ รวมทั้งสามารถยึด-อายัดทรัพย์สินได้มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสมาชิกจะต้องช่วยพูดทำความเข้าใจกับสังคม ให้เด็กนักเรียนอย่าไปลอง อย่าไปเสพ อย่าเอาแต่ตำหนิ ข้าราชการดี ๆ ก็มี ส่วนคนชั่วก็ต้องช่วยกันขจัดออกไป ต้องทำให้ได้
มิติการป้องกัน กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยความรู้และหลักคิดที่ถูกต้องให้กับเยาวชน สร้างกลไกเฝ้าระวังยาเสพติด เพื่อป้องกันสถานศึกษาให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยอยู่เสมอ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว และสนับสนุนการบำบัดรักษาโดยชุมชน
มิติการสกัดกั้น กองทัพได้เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังมากขึ้น ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทุกหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ พบการเปลี่ยนแปลงวิธีการเคลื่อนย้ายยาเสพติด ซึ่งต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ข้อสำคัญคือประชาชนต้องมีส่วนร่วมช่วยเฝ้าระวังด้วย นอกจากนี้ มีการตรวจสอบตามแนวชายแดน มีการปะทะ ขณะที่เรื่องสารตั้งต้นยาเสพติด ได้สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องระงับการนำเข้า ที่ผ่านมาบางครั้งมีการนำเข้าเกินความจำเป็น ซึ่งได้มีการแก้ไขตรวจสอบแล้ว มีการลดจำนวนลง ให้ใช้เฉพาะภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น และด้านต่างประเทศก็มีกลไกความร่วมมืออยู่แล้ว
มิติการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการเชิงรุก ในการปราบปราม-จับกุมผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ และจัดส่งข้อมูลให้สำนักงาน ป.ป.ส. ขยายผลไปสู่การทำลายเครือข่าย จับกุมนายทุน และผู้เกี่ยวข้อง มีการจับกุมและดำเนินคดีในปี 2565 และ 2566 มากกว่า 1,500 คดี กับผู้ต้องหามากกว่า 2,500 คน ได้ของกลางทั้งยาบ้ากว่า 800 ล้านเม็ด ยาไอซ์ เฮโรอีน คีตามีน กว่า 80 ล้านกรัม และยังมีที่จะต้องจับกุมดำเนินคดีอีกต่อไปเรื่อย ๆ ข้อสำคัญคือต้องเตือนลูกหลานว่าอย่าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด อย่าไปลอง
มิติการยึดอายึดทรัพย์สิน สำนักงาน ป.ป.ส. บูรณาการอย่างใกล้ชิดกับสำนักงาน ปปง. และกรมสรรพากร ในการขยายผล ยึดทรัพย์สินผู้ค้ายาเสพติด ที่นำเงินจากยาเสพติดไปฟอกเงิน หน่วยงานศาลและอัยการ เร่งรัดกระบวนการทางคดียาเสพติดให้มีความรวดเร็วขึ้น
มิติความร่วมมือระหว่างประเทศ ใช้กลไกการดำเนินงานตามโครงการสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าอากาศยานสากล (AITF) และโครงการสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าเรือสากล (SIT F) ซึ่งต้องประสานงานและแลกเปลี่ยนข่าวสารกับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง สร้างช่องทางสื่อสารเร่งด่วนที่มีประสิทธิภาพในทุกระดับ ซึ่งผลจากการสกัดกั้นทั้งสองทางนี้ ทำให้ในปี 2565 สามารถดำเนินคดียาเสพติดได้ถึง 144 คดี และปี 2566 ได้ 58 คดี โดยสองปีนี้มีการยึดของกลางยาไอซ์ เฮโรอีน คีตามีน ได้มากกว่า 1 ล้าน 9 แสนกรัม
มิติการบำบัดรักษาฟื้นฟู ซึ่งเป็นมิติที่สำคัญที่สุดวันนี้ ผู้ติดยาเสพติดถือเป็นบุคคลอันตราย ได้ให้มีการลงไปตรวจสอบ สอดส่อง มีกลไกทั้งท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ไปสำรวจจำนวนผู้เสพยาเสพติดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งวันนี้มีข้อมูลแล้วหลายจังหวัด ทางตำรวจกำลังสรุปข้อมูลอยู่ ซึ่งมีผู้เสพทั้งสีเขียว สีส้ม สีแดง จึงต้องหาทางนำมาเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลประจำตำบล (รพ.สต.) วัด ท้องถิ่น พร้อมกับเร่งรัดการจัดสร้างสถานบำบัดรักษา โดยมอบให้ กอ.รมน. ไปพิจารณาหาสถานที่ที่มีอยู่ของทางทหาร เพราะผู้เสพบางคนหากอยู่ข้างนอกจะเป็นอันตราย ยืนยันว่ารัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่ในเรื่องช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ขอให้แจ้งเข้ามา พร้อมที่จะเข้าดำเนินการ โดยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกันทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ทั้งนี้ ในมิติการบำบัดรักษาฟื้นฟู ยังได้เร่งรัดจัดทำกฎหมายลำดับรอง หรืออนุบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศต่าง ๆ สำหรับใช้ในการบำบัดรักษา คัดกรองผู้เสพ-ผู้ติดยาเสพติด แล้วนำเข้าสู่กระบวนการอย่างเหมาะสม โดยจัดตั้งสถานที่บำบัดรักษา ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และรพ.สต. ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีดำริว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าจะจัดตั้งสถานบำบัดรักษาภาคเอกชนแบบในต่างประเทศ เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองบางคนไม่อยากเปิดเผย อย่างไรก็ตาม วันนี้จะหาพื้นที่ที่ควบคุมให้ได้ แต่ไม่ได้เป็นการนำมาขัง เป็นการนำเข้ามาเพื่อแก้ไขการติดยา พร้อมทั้งฝึกอาชีพให้มีงานทำเมื่อออกมา รัฐบาลแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยวันนี้ ให้ อสม. ทำหน้าที่เป็นคู่บัดดี้ ติดตามผู้ป่วยในชุมชนจนกว่าอาการจะหายขาด และสร้างระบบการบำบัดฟื้นฟูในรูปแบบชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment : CBTx) พร้อมทั้งให้กระทรวงแรงงาน ส่งเสริมให้ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูมีทักษะความรู้ในสาขาวิชาชีพ พร้อมจัดหาตำแหน่งงานให้มีงานทำ
นอกจากนี้ ในระดับชุมชน ซึ่งเป็นฐานรากของประเทศ กระทรวงมหาดไทยได้มีการสนับสนุนการปฏิบัติงานในทุกมิติ เช่น จัดตั้งชุดปฏิบัติการตำบล ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปค้นหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดในหมู่บ้านชุมชน จัดให้มีการลงทะเบียนในระบบ พร้อมทั้งสอดส่องป้องกัน เฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในแหล่งมั่วสุม เปิดช่องทางสื่อสารเพิ่มเติมจากสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 สำหรับรับแจ้งเบาะแส ร้องเรียน ขอรับความช่วยเหลือ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้ครบทุกจังหวัด เพื่อสร้างกลไกต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ที่ผ่านการบำบัดมีงานทำ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลจำเป็นต้องรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบอยู่แล้ว ต้องดำเนินการให้ถูกวิธีเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างปัญหาใหม่ต่อไปในอนาคต ต้องใช้กฎหมายให้ถูกต้อง ใช้กระบวนการยุติธรรม เคารพในอำนาจต่าง ๆ ทางด้านกระบวนการยุติธรรม ประเทศใดที่ไร้ซึ่งกฎหมายคงไม่ใช่ประเทศ วันหน้าจะแตกไปหมด นายกฯ ขอขอบคุณทุกคนในการที่ทำให้บ้านเมืองมีความรัก ความสามัคคี ไม่แตกแยก เพราะเราคือประเทศไทย ถ้าแตกแยกแบ่งกันไปแบ่งกันมาวันหน้าเราจะไปไหนไม่ได้ รัฐบาลกำลังพยายามทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อนาคตให้ได้มากที่สุด ให้ดีที่สุด รัฐบาลได้รับการยอมรับจากต่างประเทศมากพอสมควร ในการเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี ไม่มีใครสักคนที่รังเกียจนายกรัฐมนตรี ผู้นำทุกประเทศมาคุยด้วย การประชุมต่างประเทศก็เชิญนายกรัฐมนตรีไปร่วม รวมทั้งชื่นชมการแก้ไขปัญหาโควิด 19 ที่ทำให้ประชาชนอยู่ได้ โรงงานอุตสาหกรรมไม่ต้องปิดกิจการ แรงงานยังทำงานได้อยู่ ซึ่งเป็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นของประเทศไทย
นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายว่า กฎหมายคือความเท่าเทียม ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันซึ่งเรียกว่าความเท่าเทียม การแยกคนเป็นกลุ่มเป็นฝ่ายไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ถูกต้อง โดยประชาธิปไตยที่ถูกต้องคือประชาธิปไตยที่มีมีสิทธิเสรีภาพ มีหน้าที่ แต่ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องสอนเด็ก ๆ ไม่ให้ถูกบิดเบือน