นายกฯ เตรียมลงพื้นที่ จ.จันทบุรี-จ.ระยอง 22 ก.พ. นี้ ติดตามการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล -เปิดงานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023
21 ก.พ. 2566, 09:18
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทยธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการที่จะเดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดระยอง ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ เพื่อตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาสำคัญในพื้นที่ ทั้งการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งอย่างเป็นระบบทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงพยาบาลพระปกเกล้า และรับฟังปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเขต อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี พร้อมเป็นประธานเปิดงานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023 จังหวัดระยอง ตามนโยบายรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีมีภารกิจตามกำหนดการ ดังนี้
เวลาประมาณ 07.15 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ออกเดินทางจากสนามเฮลิคอปเตอร์ พล.ม. 2 รอ. ไปยังจุดจอด ฮ. กองพันทหารราบที่ 2 ค่ายตากสิน ต.วัดใหม่ อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี เพื่อเดินทางไปพบปะประชาชน รับฟังปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลอำเภอแหลมสิงห์ ณ วัดเขาตาหน่วย ต.เกาะเปริด อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี พร้อมทั้งตรวจพื้นที่บริเวณบ้านประชาชนที่ได้รับผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เพื่อวางแผนบริหารจัดการชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ภายใต้การบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ
จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปยังโรงพยาบาลพระปกเกล้า ต.วัดใหม่ อ.เมืองจันทบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงพยาบาลพระปกเกล้า ชึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักของจังหวัดจันทบุรี และมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง ที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงในสาขาโรคมะเร็ง มีศักยภาพเป็นอันดับ 7 ของประเทศไทย ก่อนเดินทางต่อไปยังวัดโค้งสนามเป้า ต.ท่าช้าง อ.เมืองจันทบุรี เพื่อพบปะประชาชนและรับฟังปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเขตอำเภอเมืองจันทบุรี
ต่อจากนั้นในช่วงบ่ายเวลาประมาณ 14.30 น. นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023 ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดระยอง ต.ชุมแสง อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อกระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมมือกันพัฒนายางพาราไทยให้ก้าวไปไกลไปสู่นวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อคนไทยทุกคน และส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาล พร้อมเป็นสักขีพยานในโอกาสการลงนามการจับคู่ธุรกิจ โดยบันทึกความร่วมมือในการทำธุรกิจร่วมกันในประเทศไทย และเยี่ยมชมนิทรรศการการประยุกต์และพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรอุตสาหกรรม ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในเย็นวันเดียวกัน ทั้งนี้ กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
สำหรับจังหวัดจันทบุรีถือเป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นและศักยภาพที่สำคัญ ได้แก่ เป็นแหล่งผลิตและแปรรูปสินค้าการเกษตรที่มีบทบาทและความสำคัญของประเทศ โดยปี 2563 จังหวัดจันทบุรีมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร 80,165 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 56.2 ของผลิตมวลรวมจังหวัด และร้อยละ 5.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรของประเทศ) ซึ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองที่สำคัญของภาคตะวันออก ซึ่งมีความโดดเด่นด้านความหลากหลายของวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา และมีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของพื้นที่ที่ชัดเจน อีกทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดได้ตลอดทั้งปี เช่น ประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง) โบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชุมชนริมน้ำจันทบูร อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว หมู่บ้านไร้แผ่นดิน หาดเจ้าหลาว หาดคุ้งวิมาน พร้อมทั้งมีศักยภาพในการพัฒนาการค้าชายแดนที่สามารถเชื่อมโยงการผลิต การท่องเที่ยว และการค้าระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจังหวัดจันทบุรี มีมูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น จาก 28,011 ในปี 2563 เป็น 29,873 ล้านบาทในปี 2564 โดยมีจุดผ่านแดนถาวร 2 จุด ได้แก่ จุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม และจุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด อีกทั้งมีจุดผ่อนปรนบ้านซับตารีที่มีศักยภาพซึ่งสามารถยกระดับไปสู่การเป็นจุดผ่านแดนถาวรได้ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางการซื้อขายอัญมณีแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งสามารถสนับสนุนและยกระดับให้จังหวัดจันทบุรีก้าวสู่การเป็นเมืองอัญมณีแห่งอาเซียน
ขณะที่จังหวัดระยองก็มีศักยภาพและบทบาทที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยปี 2563 จังหวัดระยองมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดสูงเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ (857,191 ล้านบาท) รองจากกรุงเทพมหานคร และจังหวัดชลบุรี รวมทั้งเป็นฐานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยเป็นจังหวัดหนึ่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายประเภท ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นฐานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ อีกทั้งเป็นแหล่งที่ตั้งของบริษัทหรือโรงงานผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจำนวนมาก เช่น บริษัทในเครือโกลว์ กรุ๊ป บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี นอกจากนี้ เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) และเป็นพื้นที่แรกในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม SMART PARK ในการรองรับอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงมีโครงการสำคัญต่าง ๆ ที่สนับสนุนการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของจังหวัดระยองและประเทศ เช่น นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด ระยะที่ 3 โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อมโยง 3 สนามบิน โครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EECi อีกทั้งเป็นแหล่งทำการเกษตรที่สำคัญของภาคตะวันออก โดยเป็นพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง โรงงานไก่เนื้อ สุกร รวมทั้งผลไม้ และมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลซึ่งมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ได้แก่ เกาะเสม็ด เป็นต้น