ครม.เห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิก 33 แห่ง ใน 18 จังหวัด
21 ก.พ. 2566, 16:13
วันนี้ ( 21 ก.พ.66 ) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 21 ก.พ. 66 ได้เห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิก จำนวน 33 แห่ง ใน 18 จังหวัด ตามที่ กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 ซึ่งทั้งหมดเป็นวัดที่มีอยู่ก่อนวันที่ระเบียบฯ จะมีผลบังคับ และต้องรับรองให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หลังจากวันบังคับ(ภายใน 15 มิ.ย. 66) ซึ่งเมื่อรวมกับการอนุมัติครั้งนี้แล้วจะมีวัดที่มีอยู่ก่อนระเบียบฯ มีผลบังคับได้รับการรับรองแล้วรวม 76 แห่ง และยังเหลือการรับรองอีก 276 แห่ง
ทั้งนี้ ก่อนเสนอต่อ ครม. วัดคาทอลิกทั้ง 33 แห่ง ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 65 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ประกอบด้วย 1)ได้รับความเห็นชอบให้ยื่นคำขอรับรองวัดคาทอลิกจากสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย 2)มีข้อมูลที่ตั้งวัด 3)มีข้อมูลที่ดินที่ตั้งวัดและการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน 4)มีรายชื่อบาทหลวงซึ่งจะไปประกอบศาสนกิจประจำ ณ วัดคาทอลิก และ 5)มีข้อมูลอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรองวัดคาทอลิก เช่น คุณค่าและประโยชน์ของวัดคาทอลิก การอุปถัมภ์และทำนุบำรุงภาคส่วนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาแล้วได้ให้ความเห็นชอบและไม่ขัดข้องในหลักการในการรับรองวัดคาทอลิกทั้ง 33 แห่ง โดยมีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินว่า วัดทั้ง 33 แห่งไม่มีการตั้งบนที่ราชพัสดุ แต่หามีกรณีมิซซังได้เข้าไปใช้ที่ราชพัสดุจะต้องดำเนินการขออนุญาตเข้าไปใช้ประโยชน์ต่อกรมธนารักษ์ หากมีการเข้าไปตั้งวัดในเขตพื้นที่ป่าต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม มีวัด 9 แห่ง ที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่เป็นที่ตั้งในโรงเรียนในระบบสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดยกระทรวงศึกษาไม่ขัดข้องต่อการรับรองวัดคาทอลิกทั้ง 9 แห่ง แต่การรับรองวัดต้องไม่กระทบต่อการศึกษาของโรงเรียน ดังนั้นจึง เห็นควรให้มีรั้วแสดงขอบเขตของวัดคาทอลิกและโรงเรียนออกจากกันอย่างชัดเจน และขนาดที่ดินของโรงเรียนที่เหลืออยู่จะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง พร้อมให้โรงเรียนดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้งและการขอเปลี่ยนแปลงขนาดที่ดินที่ใช้ตั้งโรงเรียนต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า วัดคาทอลิก ทั้ง 33 แห่ง ใน 18 จังหวัดที่ได้รับการรองมีดังนี้ 1)จันทบุรี 5 แห่ง ประกอบด้วย วัดธรรมาสน์นักบุญเปโตร(ท่าแฉลบ),วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์(ท่าศาลา), วัดพระคริสตราชา(ปะตง), วัดนักบุญยอห์น อัครธรรมทูต(มะขาม)และวัดพระแม่พระถวายองค์(มูซู) 2)นครนายก 4 แห่ง ประกอบด้วย วัดพระมารดาพระศาสนจักร(นครนายก), วัดพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล(เตยใหญ่), วัดนักบุญเปาโล(บ้านนา), วัดนักบุญยอแซฟ(หนองรี)
3)ฉะเชิงเทรา 3 แห่ง ประกอบด้วย วัดเซนต์แอนโทนี(แปดริ้ว), วัดแม่พระฟาติมา(บางวัว), วัดนักบุญอันนา(สระไม้แดง) 4)สระแก้ว 3 แห่ง ประกอบด้วย วัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์(สระแก้ว) วัดนักบุญเบเนดิกต์(เขาฉกรรจ์), วัดแม่พระราชินีแห่งสันติภาพ(อรัญประเทศ)
5)กรุงเทพมหานคร 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์(คลองจั่น) และ วัดนักบุญยูดาอัครสาวก(ชินเขต) 6)ปราจีนบุรี 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดแม่พระที่พึ่งแห่งปวงชน(แหลมโขด), วัดราชินีสายประคำศักดิ์สิทธิ์(บ้านสร้าง) 7)เพชรบูรณ์ 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดนักบุญยอแซฟ(ห้วยใหญ่), วัดอัครเทวดากาเบรียล(สันติสุข) 8)ราชบุรี 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดแม่พระสายประคำ(หลักห้า), วัดนักบุญเปาโลกลับใจ(โพธาราม)
8) ปทุมธานี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญมาร์โก(ปทุมธานี) 9)พระนครศรีอยุธยา 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญเทเรซา(หน้าโคก) 10)สุพรรบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญบาร์โธโลมิว อัครสาวก(ดอนตาล) 11)นครปฐม 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญมัทธิว(ทุ่งลูกนก) 13)ชลบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดแม่พระลูกประคำ(สัตหีบ) 14)ระยอง 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญเปาโลกลับใจ(ปากน้ำ ระยอง) 15)ตราด 1 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่รับสาร(ตราด) 16)นครสวรรค์ 1 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่รับสาร(ตาคลี) 17)ลพบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดมาแตร์ เดอี อัสซุมตา(ลำนารายณ์) 18)อุทัยธานี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญเปโตร(ท่าซุง)