เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ครม.เห็นชอบกรอบเจรจาความร่วมมือ IPEF หนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG


21 ก.พ. 2566, 16:42



ครม.เห็นชอบกรอบเจรจาความร่วมมือ IPEF หนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG




วันนี้ ( 21 ก.พ.66 ) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ (21 กุมภาพันธ์  2566) เห็นชอบร่างกรอบการเจรจาสำหรับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด- แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณากำหนดท่าทีไทยและการดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบ IPEF  พร้อมทั้งรับทราบพัฒนาการการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนผลประโยชน์ของไทยและความร่วมมือภายใต้ IPEF เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการรับรองถ้อยแถลงระดับรัฐมนตรี IPEF จำนวน 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 8-9  ก.ย. 2565 และการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานในกรอบ IPEF    โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกรอบการเจรจาฯ ต่อไป 
 
ทั้งนี้  การเห็นชอบกรอบเจรจา IPEF นี้ เป็นการเห็นชอบให้มีการเจรจาตามกรอบการเจรจาเท่านั้น  โดยยังไม่มีพันธกรณีเกิดขึ้น  และภายหลังการสรุปผลการเจรจาไทยสามารถพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับผลการเจรจาที่เกิดขึ้นได้
 
ร่างกรอบการเจรจาฯ ประกอบด้วย 4 เสาความร่วมมือ ได้แก่  (1) ด้านการค้า (2) ด้านห่วงโซ่อุปทาน (3) ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (4) ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อน IPEF ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศในภาพรวม และส่งเสริมให้มีความร่วมมือที่ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถที่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายในด้านต่าง ๆ
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเจรจา IPEF เป็นการเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งไม่ใช่ FTA และไม่มีประเด็นการเข้าสู่ตลาด (market access) แต่จะเป็นการดำเนินความร่วมมือที่มีประโยชน์ต่อการส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยกับประเทศหุ้นส่วน การเสริมสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานระหว่างไทยกับประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาค การพัฒนาเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความร่วมมือด้านการต่อต้านการทุจริตและการจัดการด้านภาษีอย่างโปร่งใส ทั้งนี้ ความร่วมมือภายใต้ IPEF มีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะการดำเนินนโยบาย BCG นอกจากนี้ ความร่วมมือภายใต้ IPEF จะช่วยส่งเสริมการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศในกรอบพหุภาคีต่าง ๆ และการรับมือกับประเด็นท้าทายรูปแบบใหม่ ๆ ตลอดจนช่วยเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทยในการเจรจาความตกลงด้านการค้าอื่น ๆ ที่มีมาตรฐานสูงในอนาคต
 
อนึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมกิจกรรมการเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) เมื่อ 23 พฤษภาคม 2565 ณ Tokyo Izumi Garden Gallery กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ผ่านระบบการประชุมทางไกล ตามคำเชิญของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาคอินโด–แปซิฟิกที่ครอบคลุมประเด็นใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล ห่วงโซ่อุปทาน และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย IPEF เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เสนอโดยสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีประเทศในภูมิภาคที่เข้าร่วมแล้วจำนวน  14 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.