โฆษกฯ เผย ! “ชาไทยเย็น” ติด 1 ใน 10 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ได้รับคะแนนดีที่สุดในโลก ประจำปี 2023
25 ก.พ. 2566, 09:40
วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ได้ทราบว่า TasteAtlas ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมบทความและข้อมูลอาหารยอดนิยมทั่วโลกได้จัด 10 อันดับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2023 (10 Best Rated Non-Alcoholic Beverages in the World) (https://www.tasteatlas.com/best-rated-non-alcoholic-beverages-in-the-world#!#modal) โดย “ชาไทยเย็น” ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับที่ 7 ของโลกสะท้อนเอกลักษณ์และวัฒนธรรมอาหารของไทยที่โดดเด่น ได้รับการยอมรับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2018 ชาเย็นไทย ก็ได้รับการจัดอันดับที่ 27 ใน 50 เครื่องดื่มที่อร่อยที่สุดในโลก (World’s 50 most delicious drinks) จากเว็บไซต์ CNN Travel เช่นเดียวกัน (https://edition.cnn.com/travel/article/most-delicious-drinks-world/index.html)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผลการจัดอันดับดังกล่าวได้ให้รายละเอียดว่า ชาไทยเย็น ได้รับคะแนนโหวต 4.7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน โดยถือเป็นเครื่องดื่มที่ผสมผสานเข้ากันได้ดีระหว่างชาดำเข้มข้น นมข้นหวาน/จืด น้ำตาล และสมุนไพรเครื่องเทศต่าง ๆ ซึ่งเสิร์ฟพร้อมน้ำแข็ง โดยปัจจุบันจะพบชาไทยเย็นได้ ทั้งใน Street Food และร้านอาหารทั่วไป
ทั้งนี้ การจัดอันดับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. Hong Kong-Style Milk Tea จากฮ่องกง 2. Aguas Frescas จากเม็กซิโก 3. Chai masala จากอินเดีย 4. Maghrebi Mint Tea จากเมืองอัลมัฆริบ (Maghreb) และโมร็อกโก 5. Horchata จากเม็กซิโก 6. Salep จากตุรกี 7. ชาไทยเย็น จากไทย 8. El submarino จากอาร์เจนตินา 9. Ristretto จากอิตาลี และ 10. Darjeeling จากอินเดีย
“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการส่งเสริม Soft power ประเภทต่าง ๆ ซึ่งมั่นใจว่าไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งเอกลักษณ์ของอาหารไทยถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการตอกย้ำเป้าหมายของไทยในการขับเคลื่อนนโยบายครัวไทย สู่ครัวโลก ชูจุดเด่นด้านอาหารของไทยที่มีความหลากหลาย รสชาติอร่อย ซึ่งเป็นสิ่งนานาชาติให้การชื่นชมและยอมรับมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังสามารถต่อยอดไปสู่การส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการบริโภคได้เพิ่มเติมในอนาคต” นายอนุชาฯ กล่าว