เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ กำชับสถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน ช่วงสอบปลายภาค


28 ก.พ. 2566, 08:48



นายกฯ กำชับสถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน ช่วงสอบปลายภาค




วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงที่เกิดในสถานศึกษาขณะนี้ สาเหตุจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ และเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย จึงเกิดโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน เกิดอาการท้องเสียในกลุ่มเด็กนักเรียนในทุกระดับชั้น โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำอนามัยส่วนบุคคล ผู้ปรุงอาหาร ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” เพื่อช่วยป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วงได้ 

นายอนุชากล่าวว่า ตามรายงานสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในประเทศไทยของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2566 มีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 10,755 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 0-4 ปี 15-24 ปี และ 25-34 ปี โดยโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต หรือการปนเปื้อนสารพิษต่าง ๆ เป็นต้น แต่สาเหตุของอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยครั้งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รองลงมาคือไวรัส นอกนั้นพบได้บ้างประปราย ทั้งนี้ อุบัติการณ์ของโรคอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่มักเกิดในสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มรับประทานอาหาร เช่น ในโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถานเลี้ยงเด็ก กิจกรรมเข้าค่าย กิจกรรมทัศนศึกษา ดังนั้น กรมควบคุมโรคจึงขอเน้นย้ำให้มีการใช้มาตรการป้องกันควบคุมโรคอาหารเป็นพิษที่ผู้เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาทุกระดับนำไปปฏิบัติได้ ดังนี้ 




1. จัดระบบโรงอาหารในโรงเรียน ให้ผู้ประกอบการดำเนินตามมาตรฐานการสุขาภิบาลอาหารอย่างเคร่งครัด 2. มีการตรวจรับนมโรงเรียนตามเกณฑ์ คำนึงถึงความปลอดภัยในการเก็บรักษานมอย่างถูกวิธี ให้มีคุณภาพดีก่อนแจกจ่าย 3. มีการควบคุมดูแลผู้ทำหน้าที่ในการปรุงประกอบอาหาร หรือสัมผัสกับอาหารต้องยึดหลักสุขาภิบาลอาหารอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล 4. ผู้ปรุงประกอบอาหารควรเลือกใช้วัตถุดิบจากร้านค้าที่สะอาดได้มาตรฐาน 5. วัตถุดิบและอุปกรณ์ปรุงประกอบอาหาร ต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาใช้งาน 6. ปรุงอาหารด้วยความร้อนให้ทั่วถึง 7. เมื่อปรุงอาหารเสร็จแล้วต้องเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด 8. อาหารที่ใส่กล่องไม่ควรราดบนข้าวโดยตรง ควรแยกบรรจุกับข้าวในถุงพลาสติกต่างหาก และ 9. สถานศึกษาควรมีความพร้อมในการดูแลรักษาเบื้องต้น ทั้งการประสานส่งต่อผู้ป่วย ตลอดจนความพร้อมในการสื่อสารความเสี่ยงเมื่อพบนักเรียนป่วย หรือเกิดเหตุการณ์ระบาดในโรงเรียนเพื่อลดผลกระทบหรือความรุนแรงจากโรคอาหารเป็นพิษ

“นายกรัฐมนตรีติดตามและห่วงใยสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน เพราะประเทศไทยในช่วงนี้อาจมีสภาวะอากาศสำหรับโรคอาหารเป็นพิษ ประกอบกับเป็นช่วงการสอบปลายภาคของนักเรียนทุกระดับชั้น นายกรัฐมนตรีจึงขอให้ทุกสถานศึกษาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอนามัยของนักเรียนเป็นพิเศษ เฝ้าระวังป้องกันไม่ให้นักเรียนป่วยในช่วงสอบปลายภาค โดยยึดหลัก ‘สุก ร้อน สะอาด’ เน้นในส่วนของนมโรงเรียน ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมตามชนิดของนม ตรวจสอบวันหมดอายุ สุ่มตรวจสอบคุณภาพนม สี กลิ่น รส ไม่ผิดปกติ และไม่เป็นตะกอน ก่อนให้เด็กดื่ม และย้ำหลักการอาหารปลอดภัย ที่ผู้ปรุงอาหาร ประกอบอาหาร และผู้สัมผัสกับอาหารในทุกขั้นตอน ต้องดูแลความสะอาด ใส่ใจอนามัยส่วนบุคคล รวมทั้งให้เด็ก ๆ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อช่วยช่วยลดปัญหา ป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วงได้” นายอนุชากล่าว 


นอกจากนี้ ควบคุมโรคคาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษสูงต่อเนื่อง เนื่องจากมักพบจำนวนผู้ป่วยสูงในช่วงต้นปี ระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกันเกือบทุกปี ผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นน้ำหรือมีมูกเลือด ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ และอาจมีไข้ได้ ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ผ่านทางอุจจาระและอาเจียน ส่วนใหญ่มักเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ในกลุ่มคนที่มีการรับประทานอาหารและน้ำร่วมกัน โดยการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษในเบื้องต้น ควรให้จิบน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) บ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น ยังมีอาการถ่ายเหลวต่อเนื่องหรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบส่งตัวไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.