ประกันสังคม แจง 6 สาเหตุ ผู้ประกันตน ม.33 หมดสิทธิ์รับเงินว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง
1 มี.ค. 2566, 15:00
วันนี้ (1 มี.ค. 66) นางนิยดา เสนีย์มโนมัย ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เมื่อสิ้นสุดการทำงาน จะมีสิทธิรับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ซึ่งหากผู้ประกันตนมาตรา 33 ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินทดแทนการว่างงานในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 3 เดือน ส่วนกรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 6 เดือน โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท แต่ทั้งนี้หากถูกเลิกจ้างในบางกรณี จะทำให้ไม่ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานดังกล่าว ได้แก่ 1.) ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง เช่น โกงเงิน ยักยอกเงิน หรือแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัทเพื่อไปเป็นของตัวเอง 2.) จงใจทำให้บริษัทเสียหาย 3.) กระทำการฝ่าฝืนหรือทำผิดระเบียบร้ายแรง หรือกระทำความผิดซ้ำๆ แม้ได้รับจดหมายตักเตือนแล้ว 4.)ไม่มาทำงานติดต่อกัน 7 วัน โดยไม่แจ้งลา ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า 5.) ประมาทเลินเล่อทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และ 6.) ติดคุก ต้องโทษคดี ทั้งหมดนี้จะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจะตรวจสอบข้อมูลจากนายจ้างที่มีหน้าที่แจ้งข้อมูลการออกจากงานของลูกจ้าง และตรวจสอบจากฝ่ายลูกจ้างว่าระบุสาเหตุการออกจากงานตรงกันหรือไม่
ส่วนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน เพื่อรับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคมนั้น โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องขึ้นทะเบียนหางานกับสำนักงานจัดหางานของรัฐ ผ่านเว็บไซต์ http://e-service.doe.go.th ของกรมการจัดหางาน โดยสามารถยื่นขอรับเงินว่างงานเร็วที่สุดได้ภายหลังหนึ่งสัปดาห์ที่ยังหางานทำไม่ได้ และข้อสำคัญ ระหว่างที่ยังหางานไม่ได้ จะต้องรายงานตัวเป็นผู้ว่างงานเป็นประจำทุกเดือนตามนัดหมายที่ทางกรมการจัดหางานกำหนด สามารถรายงานตัวผ่านเว็บไซต์ของกรมการจัดหางานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ หากมีข้อสงสัยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 กด 1 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง