เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ ชื่นชม! ศธ.ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และ coding เป็นรูปธรรม วางรากฐานสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี


7 มี.ค. 2566, 13:44



นายกฯ ชื่นชม! ศธ.ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และ coding เป็นรูปธรรม วางรากฐานสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี




วันนี้ (7 มีนาคม 2566) เวลา 09.20 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อนำเสนอนิทรรศการ “โครงการขับเคลื่อน การจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณและการออกแบบเทคโนโลยี” ตามนโยบายของรัฐบาล ที่มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และวิทยาการคำนวณ ให้เป็นรูปธรรม  

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการโค้ดดิ้งชายทุ่ง หมายมุ่ง ฟ.ฟาร์ม โรงเรียนรวมจิตประสาท สพป.ปทุมธานี เขต 2 ที่แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) Unplugged Coding เรื่องจริงที่  “ทำแล้ว” เป็นการมาวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึง จุดสิ้นสุด 2) Unplugged Coding เรื่องจริงที่ “ทำอยู่” อัลกอริทึม หัวใจสำคัญของ Unplugged Coding เป็นกระบวนการการลำดับความคิดจากจุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดสิ้นสุด 3) Unplugged Coding เรื่องจริงที่ “ทำต่อไป” เป็นการเชื่อมโยงจาก Unplugged Coding มุ่งสู่ In plugged Coding การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับกิจกรรมในโรงเรียน โดยมีการนำตัวอย่างการเรียนโค้ดดิ้ง (Coding) ในเด็กเล็ก เช่น การเล่นเกมบันไดงู โดยให้เด็กฝึกคิดเพื่อหาทางออกทีละขั้นผ่านการใช้คำสั่งลูกศร ซ้าย ขวา หน้า หลัง เป็นต้น ซึ่งหลักสูตรโค้ดดิ้ง (Coding) จะช่วยส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณให้ผู้เรียนในทุกช่วงวัยได้อย่างเหมาะสม



ส่วนนิทรรศการอัจฉริยะเกษตรประณีตของโรงเรียนชุมชนดอยช้าง สพป.เชียงราย เขต 2 มีจุดมุ่งหมายการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นให้นักเรียนที่จบการศึกษา มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และนำทักษะเหล่านั้นไปใช้ได้ในชีวิตจริง เริ่มจากการนำแนวทางโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตมาจัดทำหลักสูตร Smart Farm ของโรงเรียน บูรณาการกับบริบทของท้องถิ่น ส่งเสริมให้นักเรียน ได้เรียนรู้ ทดลอง ลงมือปฏิบัติและวางแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังนำการเรียนรู้ แบบ Coding มาบูรณาการจัดการเรียนการสอน ในรายวิชาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียน ได้แก่ รายวิชาผ้าปักเด็กดอยช้าง โดยจัดกิจกรรมให้นักเรียนออกแบบขั้นตอนหรือ อัลกอริทึม ในการปักลายผ้าปักชนเผ่าอาข่า และทำเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้ออาข่า พวงกุญแจ กระเป๋า จำหน่ายในร้าน โอ๋อี้ผ้าปักเด็กดอยช้าง รวมถึงรายวิชากาแฟดอยช้าง ที่ฝึกให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ผ่านการจัดกิจกรรมและขั้นตอนที่ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์จากกาแฟ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดโครงการ โดยโรงเรียนในชุมชนดอยช้างได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการกับโรงเรียนนานาชาติชูวเวอรี่ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยน่าสนใจ และจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม ขายสินค้าออนไลน์ Shopee Thailand โดยได้ออกแบบผลิตภัณฑ์เป็น Gift Set Box ที่ประกอบไปด้วยชาเลือดมังกรแบบจุ่ม กาแฟซองดริป และกระเป๋าผ้าปักลายอาข่าจากผลงานนักเรียน


โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการที่ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญที่มุ่งสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการศึกษา ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เฉพาะมุ่งการเรียนการสอนไปที่ครูและนักเรียนเท่านั้น แต่ต้องกระจายไปสู่ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกช่วงวัยให้ได้มากที่สุด รวมถึงปูพื้นฐานการปฏิรูปการศึกษาไปถึงเด็กทุกคนโดยไร้ขอบเขต สร้างโอกาสเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน ซึ่งได้ขยายโอกาสให้เด็กนักเรียนทุกคนต้องได้เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างทั่วถึง รวมไปถึงโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต เป็นการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์กับภาคการเกษตร อีกด้วย  

สำหรับโครงการดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนคอมพิวเตอร์ (Coding) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา สร้างนักวิจัยใหม่และนวัตกร เพื่อเพิ่มศักยภาพและนวัตกรรมของประเทศ ปัจจุบันระบบการศึกษาทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการสอนเทคโนโลยีในโรงเรียน โดยเฉพาะการสอนวิทยาการคำนวณตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เป็นการสร้างหลักกระบวนการคิด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เยาวชนควรได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ระดับประถมและมัธยมต้น เพื่อเป็นรากฐานของการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะนำประเทศไปสู่การพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาการคำนวณ การออกแบบ และเทคโนโลยีในสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ให้มีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ การออกแบบและเทคโนโลยีต่าง ๆ อีกด้วย






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.