ชาว อ.สังขะ ประกอบพิธีบวงสรวงปราสาทหมื่นชัย เซ่นไหว้บรรพบุรุษ สืบสานงานประเพณีของดีตำบลกระเทียม
9 มี.ค. 2566, 20:29
วันที่ 9 มีนาคม 2566 นายสันติ โอฆะพนม นายอำเภอสังขะ เป็นประธานเปิดงานสืบสานตำนานปราสาทมีชัย โดยมีนายพรชัย มุ่งเจริญพร นายก อบจ.สุรินทร์ สจ.ณิชาภา พัวพัฒน์โชติ สจ.จิตรดิลก โสวภาค นายสมบัติ เพ็ชรกล้า และหัวหน้าส่วนราชการอำเภอสังขะ ประชาชนชาวตำบลกระเทียม และชาวอำเภอสังขะเข้าร่วมพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ปราสาทหมื่นชัย ตั้งอยู่บ้านถนน ตำบลกระเทียม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ สภาพพื้นที่รอบปราสาทเป็นลานกว้างปกคลุมด้วยพื้นหญ้าและต้นไม้น้อยใหญ่ ขึ้นรายล้อม ชาวบ้านเชื่อกันว่าสมัยก่อนพื้นที่บริเวณนี้มีความเหมาะสมแก่การสร้างที่พักคนเดินทางและโรงพยาบาลหรือ อโรคยาศาล เพื่อให้คนเดินทางสามารถแวะพักรักษาตัวได้ แต่เนื่องจากบริเวณที่ตั้งปราสาทเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ประกอบกับการเสื่อมถอยของอาณาจักรขอม ทำให้ปราสาทแห่งนี้ผุกร่อนไปตามกาลเวลา
ปราสาทหมื่นชัย เป็นปราสาทก่ออิฐทั้งหลัง มีลักษณะเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 6.5 เมตร ยาว 6.5 เมตร ปัจจุบันเหลือเพียงผนังสองด้าน ส่วนผนังด้านหน้ามีร่องรอยคูน้ำล้อมรอบ และไม่พบภาพสลักใด ๆ จึงไม่สามารถสันนิษฐานอายุการก่อสร้างได้และอีกแห่งคือ ปราสาทบ้านปราสาท อยู่ถัดจากปราสาทหมื่นชัยไป ประมาณ 75 เมตร นับเป็นอโรคยาศาลหรือศาสนสถานพยาบาล 1 ในจำนวน 102 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมให้สร้างขึ้นประกอบด้วย ปราสาทประธาน วิหาร กำแพงแก้วและสระน้ำ
นายสันติ โอฆะพนม นายอำเภอสังขะ ให้สัมภาษณ์ว่า การจัดงานปีนี้ มีการประกวดเดินแบบผ้าไหม และเดินโชว์ชุดผ้าไหมประยุกต์ ซึ่งตำบลกระเทียมมีลวดลายผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง อีกทั้งผ้าไหมของตำบลกระเทียมเคยได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งระดับประเทศไทยและการออกแบบผ้าไหมชนะเลิศระดับที่สามของอาเซี่ยน ตำบลกระเทียมมีชนพื้นเมืองในพื้นที่จำนวน 3 เผ่าพันธุ์คือ กวย เขมร ลาว จึงมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เป็นของตนเอง นอกจากนั้นยังได้จัดจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านและสินค้าโอท็อประดับ 5 ดาว ให้กับผู้ที่มาเที่ยวชมงานในครั้งนี้
นายสมบัติ เพ็ชรกล้า นายก อบต.กระเทียม กล่าวอีกว่า ปีนี้ได้จัดงาน 3 วัน และจัดยิ่งใหญ่กว่าทุกๆปีที่ผ่านมา โดยจัดให้มีการบวงสรวงเซ่นไหว้บรรพบุรุษ การเดินแบบผ้าไหม การประกวดธิดาผ้าไหม การชกมวย การแสดงแสงสีเสียงที่ตระการตา และพิธีทำบุญตักบาตรเพื่อเชื่อมความรักความสัมพันธ์และสร้างความสามัคคีของคนทั้ง 3 ชนเผ่า ให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี