เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มหาดไทย ยกระดับมาตรการ PM2.5 กำชับทุกจังหวัดเร่งแก้ปัญหาไฟป่า-หมอกควัน


12 มี.ค. 2566, 15:40



มหาดไทย ยกระดับมาตรการ PM2.5 กำชับทุกจังหวัดเร่งแก้ปัญหาไฟป่า-หมอกควัน




วันนี้ ( 12 มี.ค.66 ) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้กรมป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัยติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อย่างใกล้ชิด ซึ่งพบว่าในหลายพื้นที่ของประเทศมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานต่อเนื่องและอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงมีหนังสือสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้เร่งรัดดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และหากสถานการณ์ไม่มีแนวโน้มลดลง ได้กำชับรีบดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ เพื่อพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหา และนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้ ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ PM 2.5 ที่เกินเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่องและยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ให้ยกระดับปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ตามมาตรการที่ 1  คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 เมื่อปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินภารกิจตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่เพื่อควบคุมปริมาณ PM 2.5 ให้ลดลงหรือคงอยู่ในระดับคงที่ ต่อมาระดับที่ 2 เมื่อ PM 2.5 ระหว่าง 51 - 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่าง ๆ เข้มงวดขึ้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยมีส่วนราชการอื่น ๆ สนับสนุนการปฏิบัติ และต่อมาในระดับที่ 3 : PM 2.5 ระหว่าง 76 - 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เมื่อดำเนินการตามระดับ 2 แล้ว สถานการณ์ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าควบคุมแหล่งกำเนิด/หยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และมีคณะกรรมการควบคุมมลพิษให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งหากปริมาณความหนาเเน่นของฝุ่นละอองยังคงเพิ่มสูงขึ้น ให้ดำเนินการในระดับที่ 4 : PM 2.5 มากกว่า 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และดำเนินการในระดับ 3 แล้ว สถานการณ์ไม่มีแนวโน้มลดลง ให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ เพื่อพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหา และนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาสั่งการ

"ขณะนี้ได้เน้นย้ำการบูรณาการของหน่วยงานทุกภาคส่วน และสั่งการให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ตลอดจนเข้าควบคุมแหล่งกำเนิด/หยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) รวมทั้งกำกับ และติดตามผลการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 (1 สื่อสารเชิงรุก 5 ยกระดับปฏิบัติการ 1. สร้างการมีส่วนร่วม) โดยเร่งประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือประชาชน ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการสอดส่อง ดูแลหมู่บ้าน/ชุมชน โดยงดการเผา และงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงมาตรการ และผลการปฏิบัติของภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ตลอดจนช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น การให้บริการห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่ และแนวทางการดูแลสุขภาพ อย่างต่อเนื่อง 2. เมื่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานในพื้นที่ต่อเนื่อง และ 3. กำกับ ติดตามผลการดำเนินการในระดับอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งรายงานผลการปฏิบัติให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางตามแนวทางที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การเเก้ปัญหาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน" ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในส่วนของการพิจารณายกระดับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ฝุ่นละออง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง"  โดยสามารถประสานการดำเนินงานกับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า ภาคเหนือ) ในพื้นที่รับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว  และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนปฏิบัติการฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศอย่างต่อเนื่อง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า การดูแลตนเองเบื้องต้น จากผลกระทบจากหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 คือ ลดหรืองดการทำกิจกรรมนอกบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่มีฝุ่นละอองปกคลุมหนาแน่น หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัย เปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวัน เพื่อช่วยซับกรองและป้องกันการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย หรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ปิดปากและจมูก เพื่อลดการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย และสวมแว่นตา เพื่อป้องกันการระคายเคืองตา ปิดประตูและหน้าต่าง ๆ ให้มิดชิด พร้อมใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามช่องระบายอากาศ เพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองลอยเข้ามาในบ้าน รวมถึงติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในที่อยู่อาศัย โดยเลือกใช้แบบที่ถอดล้างได้ เพื่อลดผลกระทบจากการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับรถผ่านเส้นทางที่มีควันปกคลุม โดยเปิดไฟหน้ารถ ไฟตัดหมอก ไม่ขับรถเร็ว ไม่แซงหรือเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน ดูแลตนเองเมื่ออยู่ในพื้นที่มีหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและทำงานหนักในที่โล่งแจ้ง เพราะจะสูดดมฝุ่นเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก ทั้งนี้ ขอให้ดูแลกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นพิเศษ จัดเตรียมยาที่จำเป็นไว้ให้พร้อม โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและพกติดไว้ หากอาการกำเริบจะช่วยรักษาอาการในเบื้องต้น สำหรับกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้  ให้หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการเคืองตาหรือแสบจมูกอย่างรุนแรง แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อความปลอดภัยเเละป้องกันอาการเเทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นต่อไป 









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.