รวบตัว ! "20 ชาวกัมพูชา" ถูกนายจ้างลอยแพ ไม่ว่าจ้างต่อ ข้อหาหลบหนีเข้าเมืองผิดกฏหมาย
12 มี.ค. 2566, 21:51
วันนี้(12 มี.ค.2566) ภายใต้นโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. พล.ต.ท.เกติ์ฉกาจ นิลประดับ ผบก.ตม.4 พ.ต.อ.สิทธิ์ ศิริกังวาลกุล พ.ต.อ.มนูวัฒน์ กอสนาน รอง ผบก.ตม.4 สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ตม.ระดมกวาดล้างอาชญากรรมและการกระทำผิดกฎหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเวลาประมาณ 06.00 น.ในเช้าวันนี้ ขณะเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมกำลังปฏิบัติหน้าที่ตั้งจุด ตรวจบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 บริเวณจุดตรวจฐานกลาง ทางหลวงสาย 214(กาบเชิง-ช่องจอม) ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ มีรถยนต์รับจ้างและจักรยานยนต์รับจ้างหลายคันขับมุ่งหน้ามายังจุดตรวจ ซึ่งคาดว่าจะส่งผู้โดยสารที่ด่านผ่านแดนถาวรช่องจอม ชายแดนไทย-กัมพูชา เจ้าหน้าที่จึงส่งสัญญาณเรียกให้หยุดรถและขอตรวจสอบผู้โดยสารที่อยู่ภายในรถ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นชาวกัมพูชาทั้งที่มีและไม่มีหนังสือเดินทาง ในส่วนที่มีหนังสือเดินทางได้ปล่อยให้เดินทางต่อไป แต่ผู้ที่ไม่มีหนังสือเดินทางนับรวมได้ทั้งหมด 20 คน แยกเป็นชาย 13 คน หญิง 7 คน และเด็กๆอีก 5 คน เดินทางมาจากการทำงานในพื้นที่ชั้นในของไทย จากการสอบถามทุกคนให้ข้อมูลตรงกันว่าเป็นชาวจังหวัดเสียมเรียบ ,จังหวัด อุดรมีชัย,จังหวัดบันเตียเมียนเจยและจ.พระตะบอง ประเทศกัมพูชา เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติด้านจังหวัดสระแก้วเพื่อทำงานในประเทศไทย
ต่อมานายจ้างไม่ได้พาไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวจึงทำให้เป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย นายจ้างไม่จ้างต่อทำให้ตกงาน จึงพากันเดินทางมาที่นี่เพื่อจะเดินทางออกทางด่านช่องจอมไปยังประเทศกัมพูชา ต่างคนต่างมาจากคนละจังหวัดไม่รู้จักกันมาก่อนแต่นั่งรถโดยสารมาคันเดียวกัน เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบว่า “เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต”อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 แล้วควบคุมมายังที่ทำการ ตม.จ.สุรินทร์ เพื่อดำเนินการตามกฏหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะควบคุมตัวส่งกลับไปยังประเทศกัมพูชาทางจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม
ด้าน พ.ต.อ.ธนวัฒน์ พูลสวัสดิ์ ผกก.ตม.จว.สุรินทร์ ได้กล่าวว่าจากการที่กรมแรงงานได้เปิดให้แรงงานต่างด้าวยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 ก.พ.2566 ที่ผ่านมาและเปิดโอกาสให้ยื่นเอกสารต่างๆและตีวีซ่าทำงานที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้เสร็จทุกขั้นตอนภายใน 15 พ.ค.2566 นั้น ปรากฎว่ายังมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากรวมถึงแรงงานชาวกัมพูชาที่นายจ้างไม่ขึ้นทะเบียนให้เป็นแรงงานต่างด้าว หรือนายจ้างไม่ไปยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถทำงานต่อไปได้บางรายก็ไม่มีงานทำเพราะไม่มีใครกล้ารับเข้าทำงาน จึงเดินทางกลับประเทศกัมพูชาโดยการนั่งรถโดยสารประจำทางจนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบดังกล่าว
ซึ่งตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสุรินทร์ก็จะดำเนินการกถ่ายรูป ทำประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือเก็บข้อมูลต่างๆของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ไว้ก่อนที่จะควบคุมตัวไปผลักดันให้ออกจากราชอาณาจักรทางจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ต่อไป