สุพัฒนพงษ์ หารือ ปลัดพาณิชย์สหรัฐฯ ส่งเสริมการค้าการลงทุน-ผลักดันธุรกิจ Startup
13 มี.ค. 2566, 16:08
วันนี้ ( 13 มี.ค.66 ) เวลา 09.30 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางมาริสา ลาโก (Mrs. Marisa Lago) ปลัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ด้านการค้าระหว่างประเทศ (Under Secretary for International Trade) เข้าเยี่ยมคารวะ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รองนายกรัฐมนตรีฯ ยินดีที่ได้ต้อนรับนางมาริสาฯ สู่ประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งปีนี้ถือเป็นโอกาสอันดีในการฉลองวาระครบรอบ 190 ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - สหรัฐฯ ร่วมกัน และยกระดับความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในยุคหลังโควิด – 19 พร้อมขอบคุณ และชื่นชมวิสัยทัศน์กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่เลือกจัดงาน Trade Winds 2023 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศหลักของการประชุม ซึ่งเชื่อมั่นว่างานดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ ให้แก่ประเทศไทยและภูมิภาค โดยรองนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ไทยและสหรัฐฯ ยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือในมิติอื่น ๆ อีกมากได้ในอนาคต โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด เศรษฐกิจดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรกรรม
นางมาริสาฯ ยินดีที่ได้พบกับรองนายกรัฐมนตรีฯ เพื่อหารือถึงแนวทางการสนับสนุนเพื่อขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งงาน Trade Winds 2023 ในปีนี้เลือกประเทศไทยซึ่งมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการประชุม เชื่อว่าจะสามารถส่งเสริมภาคธุรกิจได้อีกหลากหลายประเภทผ่านการจับคู่ทางธุรกิจ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี Startup นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ให้ความสนใจ รวมทั้งเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้รับทราบนโยบายและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยืนยันว่า พร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจของไทยในส่วนที่มีศักยภาพร่วมกันเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน รวมถึงต่อยอดความร่วมมือไปยังภูมิภาคด้วย
ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือประเด็นความร่วมมือที่สนใจร่วมกัน ดังนี้
ด้านการค้าการลงทุน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าทั้งสองประเทศต่างมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แม้จะมีความท้าทายจากสถานการณ์โควิด – 19 แต่มูลค่าทางการค้ายังคงเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งนางมาริสา กล่าวว่าประเทศไทยเป็นที่ตั้งฐานการผลิตและโครงการลงทุนของบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงด้านการส่งออกในภาคเกษตรกรรม ซึ่งนายรอเบิร์ต เอฟ. โกเด็ก (Mr. Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันภาคเอกชนสหรัฐฯ กว่า 48 บริษัทให้ความสนใจร่วมลงทุนทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทยที่มีศักยภาพมากในด้านการพัฒนาธุรกิจผ่านเทคโนโลยี Startup รวมทั้งสหรัฐฯ มีแนวทางที่จะส่งเสริมบทบาทสตรีในธุรกิจ Startup อีกด้วย ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีเห็นพ้องถึงโอกาสสำคัญที่ไทยจะขยายความร่วมมือดังกล่าวผ่านการส่งเสริมภาคธุรกิจ สร้างขีดความสามารถเพื่อพัฒนาในด้านที่อาศัยนวัตกรรมมากขึ้น
ด้านการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรกรรม รองนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาคเกษตรกรรมเพื่อวางแผนการเกษตรให้เหมาะสมตามฤดูกาล โดยต้องส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีได้โดยสะดวก รวมทั้งจะช่วยลดผลกระทบต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะต่อยอดไปถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วย สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลไทยผลักดัน ขณะที่นางมาริสาฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมในภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเป็นมูลค่าการส่งออกที่สำคัญในอนาคต และเห็นพ้องถึงการใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจร่วมกัน
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเสริมถึง การส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งปัจจุบันทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการประกอบธุรกิจที่คำนึงสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การทำธุรกิจ Startup ของคนไทยที่ได้รับประสบการณ์จาก สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) มาพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้งานง่ายให้เกษตรกรไทย ถือเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกร ซึ่งนางมาริสาฯ ให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว และพร้อมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องร่วมกันต่อไป
ด้านพลังงาน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะพัฒนาด้านพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยรองนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลกสำหรับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (EV, ZEV) แบตเตอรี่ความจุสูง และระบบและส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดเป็นร้อยละ 50 ของพลังงานทั้งหมดที่ผลิตได้ ซึ่งนางมาริสาฯ ชื่นชมนโยบาย Net Zero ของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประสานความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกันได้มากขึ้น รวมทั้งเชื่อมั่นว่า การประชุมนโยบายพลังงานสหรัฐฯ - ไทย ครั้งที่ 3 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ (3rd U.S. – Thailand Energy Policy Dialogue) ในเดือนเมษายนนี้ จะเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาดร่วมกันได้
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเน้นย้ำถึงการสานต่อความร่วมมือระหว่างภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ โดยรองนายกรัฐมนตรีฯ ยืนยันว่า ไทยพร้อมทำงานร่วมกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาให้คืบหน้าและสร้างผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมให้แก่ประชาชน