นักสืบฝุ่นเผย DNA ต้นตอฝุ่นในกทม. ชี้วิธีฉีดพ่นละอองน้ำ "ไม่เห็นผลแตกต่าง"
15 มี.ค. 2566, 17:36
วันนี้ ( 15 มี.ค.66 ) กรุงเทพมหานคร จัดแถลงข่าวข้อค้นพบจากนักสืบฝุ่นในประเด็นต้นตอที่แท้จริงของการเกิดฝุ่นในกรุงเทพฯ และการล้างถนนและฉีดพ่นน้ำสามารถลดฝุ่นได้หรือไม่ โดยมีนักวิจัย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมาร่วมแถลงข่าว อาทิ ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย รศ.ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและการพัฒนา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) โดยมี นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสิ่งแวดล้อม นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และนายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. และโฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของ กทม. ที่ผ่านมาได้ทำอะไรไปบ้าง รวมถึงทิศทางต่อไปในการขับเคลื่อนตามแผนวาระแห่งชาติ ณ โรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดง
ผศ.ดร.สุรัตน์ กล่าวว่า DNA ของฝุ่น หมายถึง ฝุ่นจากแหล่งที่มาต่างกัน จะมีองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างกัน ซึ่งต้นตอฝุ่นในช่วงนี้จะมาจากการเผาไหม้ชีวมวลจากภายนอกและลอยเข้ามาในกรุงเทพฯ เพราะในช่วงเวลานี้อากาศไม่นิ่ง จึงมีฝุ่นลอยเข้ามาในช่วงประมาณกลางวันและจมตัวลงในช่วงเวลาเย็นถึงค่ำ เมื่อบวกกับฝุ่นที่มีในกรุงเทพฯ เอง ซึ่งมาจากการจราจรขนส่งและยานพาหนะ ทำให้เห็นตัวเลขของฝุ่นขึ้นไปแตะสูงมาก โดยการแก้ไขปัญหาการเผาไหม้ที่อยู่ข้างนอกจะต้องลดลงให้ได้ เดิมใช้มาตรการห้ามเผาแต่ก็มีการเลี่ยงไปเผาได้ช่วงอื่น จึงต้องชั่งน้ำหนักว่าจะใช้วิธีการห้ามเผาหรือกำหนดช่วงเวลาในการจัดการแทน เช่น การกำหนดช่วงเวลาที่เผาได้และช่วงเวลาที่ห้ามเผา ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการจัดการที่ดีที่สุดที่ให้ชาวบ้านอยู่ได้ ในขณะเดียวกันฝุ่นก็ต้องไม่กระทบกับภาพรวมด้วย ส่วนเรื่องมาตรการการเก็บภาษีเป็นเรื่องที่พยายามคุยกัน แต่ในเชิงของทางด้านเศรษฐศาสตร์มีขั้นตอนในการทำมาตรฐานที่จะนำเรื่องของการเผาเข้าไปคิด ที่ทำได้ง่ายคือเรื่องของการเผาอ้อย ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วนเกี่ยวกับการไม่รับซื้ออ้อยที่มาจากการเผา ซึ่งสามารถทำได้และช่วยลดการเกิดฝุ่นละอองได้
ผศ.ดร.สุรัตน์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาความพยายามของประเทศไทยโดยหน่วยงานรัฐ จะเห็นได้ว่าดูดีขึ้นมากจากฮอตสปอตที่เกิดขึ้น แต่ฮอตสปอตที่เกิดขึ้นนอกประเทศไทยอยู่นอกเหนือการควบคุมของเราที่จะสามารถเข้าไปจัดการได้ ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ อาเซียน และหลายองค์กรร่วมมือกัน บางครั้งอาจไปบังคับเขาไม่ได้แต่ต้องมีมาตรการจูงใจ ซึ่งต้องลองไปพิจารณาดูว่าจะต้องทำอย่างไร
ส่วนการฉีดพ่นละอองน้ำรวมถึงการล้างถนนมีส่วนช่วยในเรื่องการลดฝุ่นได้อย่างไรหรือไม่ รศ.ดร.เอกบดินทร์ กล่าวว่า จากการที่ได้ทดลองที่โรงเรียนวิชูทิศ จะเห็นว่ามีผลการเปลี่ยนแปลงน้อยมากถ้าเทียบกับปริมาณน้ำและค่าไฟฟ้าที่เสียไป โดยพบว่าค่าเฉลี่ยในชั่วโมงระหว่างที่เปิดสเปรย์น้ำกับไม่เปิดน้ำค่าฝุ่นต่างกันแค่ประมาณ 1-2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งช่วงปกติค่าผันผวนของปริมาณฝุ่นจะอยู่ที่ 3-4 มคก./ลบ.ม. อยู่แล้ว จึงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่ามีผลแตกต่าง ซึ่งถ้าเทียบกับความคุ้มแล้วจึงคิดว่าไม่คุ้ม พร้อมย้ำว่าหลักการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองมีความชัดเจนว่าจะต้องมีการแก้ไขที่แหล่งกำเนิดฝุ่น โดยมาดูว่าแหล่งกำเนิดเป็นอะไร ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าในกรุงเทพฯ โดยหลักมาจากรถยนต์ ส่วนข้างนอกมาจากการเผา และอาจจะมีมาจากแหล่งกำเนิดอื่น ๆ ด้วย ซึ่งต้องบอกว่ามาจากอะไร การฉีดพ่นละอองน้ำเป็นการจัดการปัญหาที่ปลายทางซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์แล้วถือว่าไม่คุ้มค่า สำหรับการล้างถนนมีส่วนช่วยในการลดฝุ่นที่สะสมบนพื้นถนนได้จริง แต่จะต้องล้างให้ฝุ่นลงท่อระบายน้ำ ป้องกันการฟุ้งกระจายอีกครั้ง
รศ.ดร.เอกบดินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีข้อมูลเยอะมากเกี่ยวกับการวิจัยที่บอกที่มาแหล่งกำเนิดของฝุ่น โดยมีการใช้เครื่องมือหลายตัว มีการทำบัญชีการระบายมลพิษเพื่อบอกว่าฝุ่นในพื้นที่มีแหล่งกำเนิดอะไรบ้าง มาจากแหล่งใดบ้าง รวมไปถึงการทำ chemical composition เพื่อดูว่าในฝุ่นมีองค์ประกอบทางเคมีอะไรบ้างและใส่เข้าไปในโมเดลเพื่อทราบว่าฝุ่นที่ลอยเข้ามาและฝุ่นที่มีอยู่ในพื้นที่มีต้นตอมาจากอะไร ขณะนี้เหลือเพียงว่าจะนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้นจริง ๆ ได้อย่างไร เป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้รวบรวมเครื่องมือและข้อมูลเหล่านี้มาสร้างเป็นแนวทางในการปฏิบัติซึ่งจะเป็นการวิจัยในตัวถัดไป
ด้านที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้พยายามทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การตรวจต้นตอฝุ่นและคุมเข้ม ป้องกันสุขภาพ แจ้งเตือนประชาชน ซึ่งในครั้งนี้มีช่องทางเพิ่มขึ้นอีกหลายช่องทาง มีการร่วมกับ LINE alert ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลแจ้งเตือนไปง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น การแจ้งเตือนผ่านทาง Facebook การพยากรณ์เกี่ยวกับฝุ่นทุกวัน มีการเปิดคลินิกฝุ่นเพื่อให้บริการกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยมีผู้เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับองค์ประกอบฝุ่นใน กทม. จาก 90 มคก./ลบ.ม. พบว่า 30 มคก./ลบ.ม. แรก มาจากการจราจรขนส่งและยานพาหนะ 30 มคก./ลบ.ม. ต่อมา มาจากสภาพอากาศ และ30 มคก./ลบ.ม. สุดท้าย มาจากการเผาชีวมวล
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมาดูแหล่งกำเนิดสำคัญซึ่งมาจากการจราจรขนส่งและยานพาหนะซึ่งอยู่ในส่วนของ 30 มคก./ลบ.ม. แรก เป็นเรื่องที่กทม.ทำโดยลำพังไม่ได้ จะต้องมีภาคีที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งแผนวาระแห่งชาติการจัดการมลพิษทางอากาศได้ระบุไว้ชัดเจนว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่เกี่ยวข้อง โดยกรุงเทพมหานครพร้อมที่จะประสานเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา สำหรับนโยบายนักสืบฝุ่นที่กรุงเทพมหานครได้ริเริ่มไว้หากจังหวัดอื่นประสงค์จะรับไปทำก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีเพราะทุกอย่างที่ทำต้องอ้างอิงจากข้อมูล ปัจจุบันมีข้อมูลที่สามารถจะนำไปวิเคราะห์หรือนำไปใช้ต่อ ซึ่งมีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการฉีดน้ำและแหล่งกำเนิดของฝุ่น การจัดการเรื่องยานพาหนะ ควันดำ การจัดการการเผาชีวมวลต้องทำทั้งปีไม่ใช่เฉพาะช่วงหน้าฝุ่น
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครต้องฝากถึงรัฐบาลถัดไปในการให้ความสำคัญกับแผนจัดการฝุ่นแห่งชาติ ซึ่งควรต้องเน้นในประเด็นต่าง ๆ อาทิ เน้นเรื่องภาคการเกษตร (การเผาชีวมวล) การจราจรขนส่งและยานพาหนะ การพิจารณาพื้นที่ Low Emission Zone การย้ายท่าเรือคลองเตย เป็นต้น
“ขณะนี้ทางพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้เปิดนโยบายเรื่องฝุ่น PM2.5 ทางสื่อสาธารณะอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะสอดคล้องกับที่กรุงเทพมหานครเสนอ 2-3 เรื่องหลักที่ต้องให้ความสำคัญ จึงได้ฝากไปถึงรัฐบาลชุดหน้าในการเข้ามาผลักดัน” นายพรพรหมกล่าว
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2566 กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขต ได้ลงพื้นที่ตรวจแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อลดการเกิดฝุ่นตั้งแต่ต้นทาง มีผลการดำเนินการ ดังนี้
1. สถานประกอบการ/โรงงาน มีจำนวน 1,052 แห่ง ดำเนินการตรวจสอบ 6,081 ครั้ง ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 8 แห่ง
2. แพลนท์ปูน มีจำนวน 133 แห่ง ดำเนินการตรวจสอบ 793 ครั้ง ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 17 แห่ง
3. สถานที่ก่อสร้าง ประกอบด้วย สถานที่ก่อสร้างที่ตรวจโดยสำนักงานเขต มีจำนวน 277 แห่ง ดำเนินการตรวจสอบ 1,199 ครั้ง ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 27 แห่ง และตรวจโดยสำนักการโยธา 399 แห่ง ดำเนินการตรวจสอบ 392 ครั้ง ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 1 แห่ง
4. ถมดิน/ท่าทราย มีจำนวน 9 แห่ง ดำเนินการตรวจสอบ 88 ครั้ง
5. ตรวจควันดำในสถานที่ต้นทาง ดำเนินการตรวจสอบ 1,746 คัน ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 14 คัน
6. ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมควบคุมมลพิษ และกรมการขนส่งทางบก เรียกตรวจสอบ 60,270 คัน ออกคำสั่งห้ามใช้ 1,265 คัน
7. ตรวจรถโดยสารประจำทาง/ไม่ประจำทาง โดยกรมการขนส่งทางบก เรียกตรวจสอบ 12,975 คัน พ่นห้ามใช้ 57 คัน
8. ตรวจรถบรรทุก โดยกรมการขนส่งทางบก เรียกตรวจสอบ 42,755 คัน พ่นห้ามใช้ 220 คัน
ด้านการให้ข้อมูลคุณภาพอากาศโดยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน วางแผนการทำงาน การทำกิจกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ/มีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยมีช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
1. LINE ALERT กรุงเทพมหานครได้ร่วมมือ LINE ประเทศไทย เพิ่มช่องทางแจ้งเตือนประชาชน เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ มีค่าเกิน 75 มคก./ลบ.ม จำนวน 10 เขต หรือ ค่าฝุ่นเกิน 90 มคก./ลบ.ม. จำนวน 1 เขต บน LINE ALERT โดยสามารถเพิ่มเพื่อน LINE ALERT ด้วยการค้นหาไอดี @linealert
2. เฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร หรือ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม
3. แอปพลิเคชัน AirBKK
4. เว็บไซต์ www.airbkk.com หรือ www.pr-bangkok.com
5. จอแสดงผล (Display Board)
6. การทดลองส่ง sms แจ้งเตือน
7. ขอความร่วมมือประชาชนหากพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแสผ่านทาง Traffy Fondue เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการแก้ไข
ในส่วนของการดูแลและการป้องกันสุขภาพของประชาชน กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้ดำเนินการดังนี้
1. โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ เปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศแก่ประชาชน จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ พร้อมขยายเวลาเปิดคลินิกมลพิษอากาศ เป็น 08.00-15.00 น. ทุกวันในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง
2. ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ออกหน่วยบริการสาธารณสุขหรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทุกวัน ดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน
3. แจกหน้ากากอนามัยแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร พร้อมเน้นย้ำช่องทางแจ้งเบาะแสแหล่งกำเนิดมลพิษ
4. กทม.ได้รับการสนับสนุนเครื่องฟอกอากาศแก่ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน และให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาดำเนินการตามมาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ในโรงเรียนอย่างเคร่งครัด