เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยมิจฉาชีพแฝงตัวในรูปแบบบริษัทจัดหางานหลอกเงิน


19 มี.ค. 2566, 17:03



ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยมิจฉาชีพแฝงตัวในรูปแบบบริษัทจัดหางานหลอกเงิน




วันนี้ ( 19 มี.ค.66 ) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอฝากเตือนภัยมิจฉาชีพโทรศัพท์ไปยังผู้เสียหาย แอบอ้างเป็นบริษัทที่เคยสมัครงาน หลอกลวงเหยื่อให้ทดลองงาน โดยการทำภารกิจออนไลน์ต่างๆ ดังนี้

ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหายหลายรายว่า ได้รับโทรศัพท์จากมิจฉาชีพซึ่งแอบอ้างเป็นพนักงานบริษัทที่ตนได้เคยกรอกข้อมูลหรือฝากประวัติส่วนตัว หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ และตำแหน่งที่สนใจไว้ผ่านเว็บไซต์หางานต่างๆ โดยมิจฉาชีพได้นำข้อมูลดังกล่าวมาสอบถามผู้เสียหายว่าสนใจสมัครงานในตำแหน่งนี้ใช่หรือไม่ หากใช่จะให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์ของพนักงานบริษัท เพื่อทำการพูดคุยแจ้งลักษณะของงานให้ทราบ และจะต้องทดลองงานก่อนเป็นเวลา 3 วัน หากผ่านการทดลองงานแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไปแจ้งสวัสดิการต่างๆ เช่น วันหยุด โบนัสประจำปี เป็นต้น แต่ในช่วงทดลองงานมิจฉาชีพจะให้ผู้เสียหายโอนเงินส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายรายวันก่อนที่จะให้ทำภารกิจต่างๆ เริ่มจากการให้เข้าไปกดถูกใจ หรือกดไลก์บุคคลที่มีชื่อเสียง บันทึกภาพหน้าจอสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในขั้นตอนสุดท้ายมิจฉาชีพจะส่งลิงก์ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมเพื่อไว้ทำภารกิจ กดรับออเดอร์สินค้าในราคาตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักหมื่นบาท หรืออาจจะมากกว่านั้น 

ทั้งนี้ในช่วงแรกๆ ผู้เสียหายจะได้เงินคืนมาจริง แต่หลังจากนั้นมิจฉาชีพก็จะออกอุบายต่างๆ เพื่อให้ทำภารกิจพิเศษ หลอกให้เหยื่อเติมเงิน หรือโอนเงินเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เหยื่อมักเสียดายเงินที่เคยโอนไปก่อนหน้านี้อยากได้เงินทั้งหมดคืน ก็หลงเชื่อโอนเงินไปเพิ่มอีกหลายครั้ง มิจฉาชีพก็จะมีข้ออ้างต่างๆ เช่น อ้างว่าทำผิดขั้นตอน หรือยอดเงินในระบบไม่เพียงพอ อ้างว่าเป็นค่าเอกสาร ค่าปิดบัญชี ค่าภาษี เป็นต้น นอกจากนี้ยังสร้างความน่าเชื่อถือโดยให้หน้าม้าในกลุ่มไลน์แสดงหลักฐานปลอมว่าตนได้รับเงินจริง กระทั่งเมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกลวงก็จะปิดการติดต่อหลบหนีไป

จากสถิติศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 - วันที่ 11 มี.ค.66 พบว่า การหลอกลวงโอนเงินเพื่อหารายได้เสริมจากการทำกิจกรรม มีผู้เสียหายแจ้งความกว่า 29,945 เรื่อง หรือคิดเป็น 13.72% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 2 รองจากการหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ และมีมูลค่าความเสียหายกว่า 3,300 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 3 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด รองจากการหลอกลวงให้ลงทุน และการหลอกลวงทางโทรศัพท์เป็นขบวนการ (Call Center)

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้ทำภารกิจ หรือทำงานออนไลน์เพื่อหารายได้เสริม โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง เพราะถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน
ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว มีการสร้างความน่าเชื่อถือโดยการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายจากเว็บไซต์รับสมัครงานต่างๆ มีการปลอม หรือแอบอ้างเป็นพนักงานบริษัทที่ผู้เสียหายเข้าไปติดต่อสมัครงาน เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะส่งลิงก์ให้ติดตั้งเพื่อให้ทำภารกิจ อ้างว่าเป็นการทดลองงาน และยังคงพบว่ามีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพชักชวนหลอกลวงให้ทำภารกิจอื่นๆ อีก เช่น การจ้างให้กดไลก์ (Like) กดแชร์ (Share) ดูคลิปวิดีโอจากยูทูบ (YouTube) กดรับออร์เดอร์สินค้า รีวิวที่พัก รีวิวสินค้า พับถุงกระดาษ ร้อยลูกปัด หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มิจฉาชีพออกอุบาย โดยการประกาศเชิญชวนโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Tiktok เป็นต้น หรือการส่งความสั้น (SMS) ไปยังเหยื่อโดยตรงให้กดลิงก์เพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ แล้วเข้ากลุ่มทำงานที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา รวมไปถึงมีการใช้อวตาร หน้าม้า ใช้รูปภาพโปรไฟล์ของบุคคลอื่นจากเว็บไซต์ทั่วไปเพื่อหลอกลวงเหยื่อ

จะเห็นได้ว่าทุกครั้งจะต้องมีการโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพ หรือเติมเงินเข้าไปในระบบที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาก่อน โดยจะทำให้เห็นว่ามีจำนวนเงินแสดงขึ้นมาในระบบจริง แต่ยังไม่สามารถถอนออกมาได้ มีเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งการหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรมนั้น ได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนสูงเป็นอันดับแรกๆ ของการหลอกลวงทั้งหมด มิจฉาชีพจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนภารกิจ หรือกิจกรรมที่นำมาหลอกลวงเหยื่อไปเรื่อยๆ โดยอาศัยความไม่รู้ และความโลภของประชาชนเป็นเครื่องมือ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ไม่เลือกอายุ หรือเพศของเหยื่อ ทุกคนทุกอาชีพสามารถตกเป็นเหยื่อได้หมด เพราะฉะนั้นการทำกิจกรรม หรือธุรกรรมใดๆ บนโลกออนไลน์ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพและมีสติอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ฝากเตือนถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ดังนี้
1.ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงินในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเว็บไซต์ที่รับสมัครงานต้องปิดข้อมูลของผู้สมัครงานเป็นความลับ

2.อย่าหลงเชื่อการรับสมัครงานใดๆ ที่ต้องให้ทำภารกิจออนไลน์ หรือทดลองงานในลักษณะดังกล่าวก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการให้โอนเงินไปก่อน สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน

3.หากมีการแอบอ้างเป็นพนักงานบริษัท อย่ารีบเชื่อ ให้โทรศัพท์ไปสอบถามหน่วยงาน หรือบริษัทนั้นๆ โดยตรง

4.เมื่อพบคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือประกาศ โฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Tiktok อย่าเข้าไปติดต่อสมัครทำงานเป็นอันขาด มักจะมีการแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ เช่น Shopee, Lazada เป็นต้น

5.หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดี หรือมีผลตอบแทนสูง ทำง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน

6.หากต้องการจะทำงานจริงๆ ให้ปรึกษาสายด่วนของตำรวจไซเบอร์ ที่หมายเลข 1441 เพื่อปรึกษาว่างานดังกล่าวเป็นมิจฉาชีพหรือไม่

7.หากสมัครทำงานไปแล้ว พบว่ามีการติดต่อให้วางเงินมัดจำ หรือเงินลงทุน หรือสำรองเงินก่อนจะทำงานได้ ให้ฉุกคิดทันทีว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด

8.ไม่โอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา และควรตรวจสอบเลขบัญชี หรือชื่อเจ้าของบัญชีก่อนโอนเงินทุกครั้งว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.