ชื่นชม! ทีมกู้ภัยสู้ชีวิต ช่วยกู้แพให้อาหารปลา ข้ามวันข้ามคืน วัดดังสุพรรณบุรี
20 มี.ค. 2566, 13:29
ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายมณฑล ธรรมเที่ยงตรง รองหัวหน้าศูนย์กู้ภัยมูลนิธิเสมอกันกู้ภัยเสมอกันสุพรรณบุรี หัวหน้าชุดประดาน้ำมูลนิธิเสมอกันกู้ภัยเสมอกันสุพรรณบุรี ว่าได้รับการประสาน จากพระครูศรีรัตนาภิวัฒน์ รองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าอาวาสวัดพระลอย ว่าขอให้มาช่วยกู้แพให้อาหารปลาในแม่น้ำท่าจีน บริเวณหน้าวัด ให้ด้วยเนื่องจากแพล่มจมน้ำ
หลังจากได้รับการประสานนายมณฑล ได้ประสานขอกำลังจากทีมกู้ภัยต่างๆ ประกอบด้วยมูลนิธิเสมอกันกู้ภัยสุพรรณบุรีสมาคมกู้ภัยวิเศษชัยชาญ สมาคมกู้ภัยอ่าง มูลนิธิร่วมกตัญญูอ่างทอง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง บางเสาธง มูลนิธิร่วมกตัญญู ลพบุรี มูลนิธิร่วมกตัญญูสระบุรี จัดนักประดาน้ำเข้าร่วมในการกู้แพครั้งนี้ แต่เนื่องจากแพเป็นแพเหล็กขนาดใหญ่กว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตรจมอยู่ในลึก ทำให้ไม่สามารถก็ขึ้นมาได้ง่ายๆ พระครูศรีรัตนาภิวัฒน์ รองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าอาวาสวัดพระลอย จึงประสานขอสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือและเครื่องปั๊มลม ขนาดใหญ่จากสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 2 สุพรรณบุรี เข้ามาช่วยโดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ช่วยจัดหาถึงน้ำมันขนาด 200 ลิตรและถังพลาสติกจำนวนมากเข้ามาช่วยดันให้แพยกตัวลอยขึ้นจากน้ำ
การกู้แพครั้งนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะแพ เป็นแพที่มีขนาดใหญ่ จมอยู่ในน้ำลึก ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการกู้ทำให้แพลอยตัวขึ้นบนผิวน้ำ โดยการใช้ถังน้ำมันยัดเข้าไปใต้แพแล้วปั๊มลมเข้าถึงเพื่อช่วยให้ลอยตัว เจ้าหน้าที่ใช้เวลาในการกู้แพแบบหามรุ่งหามค่ำติดต่อกันกว่า 6 วันจึงสามารถกู้แพได้สำเร็จท่ามกลางความดีใจของชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่มากราบขอพรพระในวัด
วัดพระลอย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี มีที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 40 ไร่ วัดพระลอย ไม่ทราบประวัติการสร้างวัดที่แน่ชัด วัดมีอุโบสถที่ปรักหักพัง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ทางวัดได้ปฏิสังขรณ์โดยสร้างอุโบสถใหม่ครอบไว้ และยังมีอุโบสถหลังใหม่ ที่ประดิษฐาน พระพุทธราชมงคล พระประธานอุโบสถ หน้าบันอุโบสถหลังเก่าทำด้วยไม้ พิงผนังโบสถ์อยู่ ข้อมูลของกรมการศาสนา ระบุว่าวัดเมื่อ พ.ศ. 2350 ในอดีตเรียกกันว่า วัดชลอ1 สาเหตุที่สร้างวัดนี้น่าจะมาจากที่มีพระพุทธรูปปางนาคปรกเนื้อหินทรายขาวลอยมาตามแม่น้ำท่าจีน จึงได้ทำพิธีอาราธนาขึ้นมาจากแม่น้ำ สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยลพบุรี ยังมีตำนานเล่าขานกันว่า บริเวณวัดพระลอยในปัจจุบัน เดิมมีวัดเก่าแก่ อยู่ 2 วัดคือ วัดกระโจมทอง และวัดมาลา
ต่อมาวัดทั้งสองร้างไป จึงได้รวมวัดเป็นวัดพระลอย วัดมีพระพุทธรูปนาคปรก 2 องค์ องค์ล่างทางวัดจำลองจากองค์จริงไว้ เพื่อให้ชาวบ้านได้ ปิดทอง ส่วนองค์บนเป็นพระนาคปรกองค์จริง ประดิษฐานอยู่กับวัดมานานแล้วในวิหาร ชาวบ้านมากราบไหว้ขอพรเรื่องค้าขาย หน้าที่การงาน พระนาคปรก สูงประมาณ 39 นิ้ว หน้าตักกว้างประมาณ 19 นิ้ว ซึ่งได้รับอิทธิพลรูปแบบจากศิลปะบายนของขอม ราวพุทธศตวรรษที่ 18 วัสดุทำจากหินทราย พุทธลักษณะที่ปรากฏคือ ประทับนั่งอยู่บนขนดนาค พระพักตร์ค่อนข้างสี่เหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรยาว พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา แย้มสรวลเล็กน้อย
พระครูศรีรัตนาภิวัฒน์ รองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าอาวาสวัดพระลอย แพที่ล่มจมน้ำนั้นเป็นแพสำหรับรองรับพุทธศาสนิกชน นักท่องเที่ยว ที่มากราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด จากนั้นก็ลงแพไปให้อาหารปลาหลากหลายชนิดที่มีอยู่ในแม่น้ำท่าจีนหน้าวัดจำนวนมาก แต่เนื่องจากแพสร้างมาแล้วเกือบ 10 ปีถูกสนิมกัดกร่อนทำให้แพเกิดรั่วแล้วล่มลง ซึ่งเหตุแพล่มไม่มีใครได้รับอันตรายเนื่องจากล่มกลางคืน และได้ทีมกู้ภัยต่างๆมาช่วยนำขึ้นและทางวัดจะได้ทำการซ่อมแซมให้งานได้ตามปกติต่อไป