ขอชาวนา 13 จังหวัด งดทำนาปรังรอบ 2 ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ-ข้าวยืนต้นตาย
23 มี.ค. 2566, 14:58
วันนี้ ( 23 มี.ค.66 ) นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 รอบ ได้แก่ การปลูกข้าวนาปีคือช่วง 1 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม และการปลูกข้าวนาปรัง ในช่วง 1 พฤศจิกายน – 30 เมษายน และหากมีการปลูกข้าวอีกจะเป็นนาปรังรอบที่ 2 ในช่วง 1 มีนาคม – 30 เมษายน ซึ่งจะเป็นการปลูกข้าวเป็นรอบที่ 3 ของปี
จากสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ณ วันที่ 15 มีนาคม 2566 ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 พบว่า มีการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 จำนวนกว่า 12 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนการปลูกข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ดังนั้น หากเกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ต่อเนื่องทันที จะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของข้าวที่อยู่ระหว่างการเพาะปลูกและกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยา
กรมส่งเสริมการเกษตร ขอความร่วมมือเกษตรกร 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี นครสวรรค์ พิจิตร ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรสาคร และจังหวัดสุพรรณบุรี งดทำนาปรังรอบ 2 เพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทาน ลดความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ เนื่องจากไม่มีน้ำต้นทุนเพียงพอ ทั้งจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศจากภาวะน้ำเค็มรุกท้ายลุ่มเจ้าพระยา ประกอบกับข้อมูลจากการแถลง “การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2566” เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าประเทศไทยตอนบนจะมีฝนใกล้เคียงค่าปกติ ภาคใต้ปริมาณฝนจะมากกว่าค่าปกติเล็กน้อย อาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในปลายเดือนมิถุนายนและต้นเดือนกรกฎาคม 2566 และข้อมูลจากกรมชลประทาน เรื่องการขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดการทำนาต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ตลอดฤดูกาล
สำหรับการพักนาไม่ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องนั้น มีประโยชน์และผลดีหลายด้าน ได้แก่ ช่วยลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนเนื่องจากต้นข้าวยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาพรวมของประเทศ เป็นการพักดินเพื่อลดปัญหาการสะสมของโรคและแมลงศัตรูข้าว โดยเกษตรกรสามารถปลูกพืชปุ๋ยสดแทนเพื่อปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านการใช้ปุ๋ยในฤดูกาลผลิตถัดไปได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีแหล่งน้ำของตนเองหรือแหล่งน้ำอื่นๆ ที่ประเมินแล้วว่าเพียงพอต่อการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เกษตรกรสามารถเลือกปลูกพืชที่มีตลาดรองรับในพื้นที่