มหาดไทย หนุน "บ้านห้วยขาบใหม่" เป็น "หมู่บ้านยั่งยืน" ตามพระดำริเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ
24 มี.ค. 2566, 15:51
วันนี้ ( 24 มี.ค.66 ) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติดินโคลนถล่ม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ส่งผลทำให้บ้านเรือนของประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งหมู่บ้าน จังหวัดน่านจึงได้ประกาศให้ “บ้านห้วยขาบ” เป็นเขตภัยพิบัติที่ไม่สามารถพักอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมได้ต่อไป เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม โดยอำเภอบ่อเกลือได้อพยพประชาชน จำนวน 239 คน จากบ้านห้วยขาบ หมู่ที่ 7 ตำบลบ่อเกลือเหนือ ไปพักอาศัยที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านสว้าเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ ห่างจากพื้นที่หมู่บ้านเดิม 3 กิโลเมตร
ทั้งนี้ บ้านห้วยขาบเป็นหมู่บ้านที่มีประชาชนชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ “ลัวะ” ซึ่งชาวลัวะบ้านห้วยขาบได้ใช้ชีวิตอาศัยในพื้นที่นี้มานานกว่า 100 ปี ประกอบอาชีพปลูกกาแฟ ปลูกถั่วดาวอินคา และข้าวไร่ โดยชื่อหมู่บ้าน “บ้านห้วยขาบ” มาจากชื่อลำห้วยที่ไหลผ่าน และในอดีตมีแมลงขาบ (ภาษาลัวะ) หรือ “แมลงเม่า” อยู่ตามลำห้วยชุกชุม จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อหมู่บ้าน โดยภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติดินโคลนถล่ม และอพยพมาตั้งอยู่ ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราว ดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยจึงได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมป่าไม้ การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทหาร ตำรวจ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และอาสาสมัคร หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมสนับสนุนกำลังพล และงบประมาณ ก่อสร้างบ้านถาวรและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในที่ดินที่กรมป่าไม้อนุญาตในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคา-ป่าผาแดง ตำบลดงพญา อ้เภอบ่อเกลือ ระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2562 – 2592 โดยในพื้นที่บ้านห้วยขาบ (เดิม) ไม่มีประชาชนอาศัยอยู่แล้ว มีเพียงประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพียงเท่านั้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ต่อมาประชาชนบ้านห้วยขาบได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ คือ บ้านห้วยขาบใหม่ หมู่ที่ 8 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ โดยแยกออกจากบ้านสว้าเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้รับแจ้งจากจังหวัดน่าน เรื่อง การขอจัดตั้งบ้านห้วยขาบใหม่ แต่กรมการปกครองในฐานะส่วนราชการที่รับผิดชอบได้ทำการตรวจสอบข้อมูลประกอบการขอจัดตั้งหมู่บ้านพบว่า การขอจัดตั้งหมู่บ้าน บ้านห้วยขาบใหม่ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 ที่กำหนดว่า “การจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1) กรณีเป็นชุมชนหนาแน่น มีราษฎรไม่น้อยกว่า 1,200 คน หรือมีบ้านไม่น้อยกว่า 240 บ้าน และเมื่อแยกหมู่บ้านแล้วต้องมีราษฎรไม่น้อยกว่า 600 คน หรือมีจำนวนบ้านไม่น้อยกว่า 120 บ้าน และ 2) กรณีเป็นชุมชนห่างไกล มีราษฎรไม่น้อยกว่า 600 คน หรือมีจำนวนบ้านไม่น้อยกว่า 120 บ้าน เมื่อแยกหมู่บ้านใหม่แล้วต้องมีราษฎรไม่น้อยกว่า 200 คน หรือมีจำนวนบ้านไม่น้อยกว่า 40 บ้าน และชุมชนใหม่ต้องห่างจากชุมชนเดิมไม่น้อยกว่า 6 กิโลเมตร” ซึ่งการขอจัดตั้งหมู่บ้านห้วยขาบใหม่ หมู่ที่ 8 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ มีจำนวนราษฎรเพียง 239 คน จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยความเห็นชอบของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับการบริหารราชการกระทรวงมหาดไทย ได้เสนอความคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่อง การขอจัดตั้งหมู่บ้านใหม่คือ บ้านห้วยขาบใหม่ หมู่ที่ 8 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ โดยขอยกเว้นหลักเกณฑ์การจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการประชุมหารือเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้จัดตั้ง “บ้านห้วยขาบใหม่ หมู่ที่ 8 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ” ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ สำหรับหมู่บ้านห้วยขาบ หมู่ที่ 7 (บ้านห้วยขาบเดิม) จะนำพื้นที่ไปรวมกับบ้านบ่อหยวกใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านแทน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขั้นตอนต่อไป จังหวัดน่านจะต้องจัดทำประกาศจังหวัดน่าน เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน บ้านห้วยขาบใหม่ และประกาศจังหวัดน่าน เรื่อง การยุบหมู่บ้านห้วยขาบ หมู่ที่ 7 (บ้านห้วยขาบเดิม) โดยให้นำพื้นที่ไปรวมกับบ้านบ่อหยวกใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลบ่อเกลือเหนือ และประกาศที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน พร้อมทั้งจัดส่งสำเนาให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมอำนวยความสะดวกในการแก้ไขหลักฐานทะเบียนบ้านให้ถูกต้อง โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวบรวมทะเบียนบ้านทั้งหมดไปดำเนินการแก้ไข ณ สำนักทะเบียนในพื้นที่ และชี้แจงทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนกรณีบัตรประจำตัวประชาชนที่มีข้อมูลที่อยู่เดิมเปลี่ยนแปลงไปยังสามารถใช้บัตรดังกล่าวได้จนกว่าบัตรจะหมดอายุ และได้สั่งการให้จังหวัดน่านแจ้งการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่และการเปลี่ยนแปลงเขตหมู่บ้านให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทราบ และกำชับเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบแนวเขตหมู่บ้าน ตามประกาศตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้านให้ถูกต้องชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาพิพาทเกี่ยวกับแนวเขตการปกครองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน ทั้งด้านที่อยู่อาศัย ความเป็นอยู่ ด้านอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่น้องประชาชนบ้านห้วยขาบใหม่ เคยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติดินโคลนถล่มเมื่อ 5 ปีก่อน เมื่อพื้นที่เดิมเป็นพื้นที่ที่ไม่มั่นคงปลอดภัย ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันดูแลชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ปลอดภัยด้วยการย้ายมาตั้งในที่ตั้งใหม่ เพื่อชีวิตมีความมั่นคงปลอดภัย ไม่ต้องผวา หรือวิตกกังวลกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์เหมือนในอดีต จิตวิญญาณ ความผูกพัน ความเป็นวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม ของคนในชุมชน ซึ่งเป็นพี่น้องประชาชนชาติพันธุ์ “ลัวะ” ที่สืบทอด สืบสาน ภูมิปัญญา วิถีชีวิตมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ จะต้องไม่สูญหายไปเพราะภัยพิบัติ ดังนั้น เมื่อพี่น้องประชาชนเสนอขอจัดตั้ง “บ้านห้วยขาบใหม่” เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาวบ้านห้วยขาบ กระทรวงมหาดไทย จึงเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน
“จะได้ขอให้จังหวัดน่านมอบหมายให้นายอำเภอบ่อเกลือ น้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทำให้บ้านหวยขาบใหม่ เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง มีความรัก ความสามัคคี และส่งเสริมการประกอบอาชีพดั้งเดิม คือ การปลูกกาแฟในพื้นที่ว่าง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และส่งเสริมช่องทางการตลาด ทั้งตลาดออนไลน์ และการออกร้านในโอกาสต่าง ๆ เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง อันจะส่งผลให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความสุขอย่างยั่งยืน”นายสุทธิพงษ์กล่าว