กองบิน 5 เปิดปฏิบัติการฝนหลวงแก้ภัยแล้งภาคอีสาน
27 มี.ค. 2566, 15:03
วันที่ 27 มี.ค.66 เวลา 10.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ฝูงบิน 501 กองบิน 5 อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นาวาอากาศเอก สิทธิรัตน์ พู่ทรงชัย ผู้บังคับการกองบิน 5 เป็นประธานในพิธีส่งหน่วยบินของ บน.5 ไปปฏิบัติหน้าที่ทำฝนหลวง ณ ฐานปฏิบัติการฝนหลวง กองบิน 1 ที่ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.ชัยภูมิ และภาคอีสาน สนันสนุนภารกิจกรมฝนหลวง กระทรวงเกษตร เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับชาวบ้าน ตามพระราชดำริฝนหลวงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตขจัดปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร โดยมี นาวาอากาศเอก สามารถ ว่องทรงเจริญ รองผู้บังคับการกองบิน 5 นาวาอากาศโท ชิดพล อุไรพงษ์ ผู้บังคับฝูงบิน 501 พร้อมด้วย ข้าราชการทหารอากาศ และนักบินในสังกัด เข้าร่วมพิธีส่งหน่วยบินปฏิบัติการฝนหลวง
นาวาอากาศเอก สิทธิรัตน์ พู่ทรงชัย ผู้บังคับการกองบิน 5 เปิดเผยว่า เนื่องจากช่วงนี้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง กองบิน 5 ได้จัดส่งเครื่องบินพีชเมคเกอร์ หรือ เครื่องบินโจมตีธุรการแบบที่ 2 (AU-23A) จำนวน 3 เครื่อง (บ.จธ.2) พร้อมนักบินจำนวน 6 นาย และเจ้าหน้าที่ชุดช่างประจำเครื่อง 39 นาย รวม 45 นาย พร้อมวัสดุอุปกรณ์เพื่อไปปฏิบัติงาน ณ ฐานปฏิบัติการฝนหลวง กองบิน 1 ซึ่งพื้นที่ปฏิบัติการฝนหลวง คือ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.ชัยภูมิ และภาคอีสาน โดยปฏิบัติการนี้จะเริ่มประมาณ 1 เมษายน เป็นต้นไป จนถึง 30 ก.ย.หรือจนเสร็จสิ้นภารกิจ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศแต่ละพื้นที่ปฏิบัติการ และปฏิบัติการตามภารกิจที่กรมฝนหลวงมอบหมาย
สำหรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ทรงทำการทดลองวิจัยด้วยพระองค์เอง รวมทั้งได้พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาสุดมิได้ ที่ทรงประทานฝนหลวงให้แก่ปวงชนชาวไทยทุกคน ซึ่งกองบิน 5 โดยฝูงบิน 501 ได้รับมอบภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่จะต้องไปปฏิบัติภารกิจฝนหลวงนั้น นักบินทุกคนพึงระลึกถึงพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์ท่าน และปฏิบัติภารกิจด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรประชาชนชาวไทยและประเทศชาติเพราะพวกท่านคือ ทหารของพระราชา
โดยปฏิบัติการในครั้งนี้ ใช้นวัตกรรม ไฮโกรสโคปิค แฟลร์ (Hygroscopic Flare)(ไฮ-โกร-สะ-โค-ปิก-แฟร์)หรือ พลุสารดูดความชื้น ที่มีสารเคมีโซเดียมคลอไรด์ และแคลเซียมคลอไรด์ เป็นส่วนผม ซึ่งกรมฝนหลวงและกองทัพอากาศ ได้ร่วมกันวิจัยคิดค้นขึ้น โดยใช้หลักการจุดพลุซึ่งดัดแปลงจากระบบอาวุธเดิมที่ติดตั้งในเครื่องบิน และให้ ศวอ.ทอ.เป็นผู้ผลิต เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการทำฝนหลวง**