เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการวิจัย พัฒนาการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่นำมาป้องกันประเทศ


28 มี.ค. 2566, 11:17



นายกฯ ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการวิจัย พัฒนาการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่นำมาป้องกันประเทศ




วันนี้ (28 มีนาคม 2566) เวลา 08.45 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอก ชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พลเอก จิรวิทย์ เดชจรัสศรี ผู้อำนวยการศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร พลโท พรมงคล พึ่งเสมา ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ และพันเอก ชัชพงษ์ พันธุ์พยัคฆ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการ เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดนิทรรศการ “อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในรูปแบบการจัดนิทรรศการ เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้กับส่วนราชการ หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานที่สำคัญเกี่ยวกับการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์รายการที่จำเป็น เพื่อความพร้อมรบ และการสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อผลิตใช้ในราชการและการพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อทหารมากขึ้น รวมทั้งเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากลต่อไป



นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) บูรณาการขีดความสามารถ โดยได้ทำการวิจัย พัฒนาและผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สามารถนำมาทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ และนำไปใช้งานจริง โดยพัฒนาปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ในปี 2563 ให้สามารถนำมาใช้งานได้จริง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน และมีแผนนำเข้าประจำการในปี 2567-2568 นอกจากนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันวิเคราะห์ทางวัสดุศาสตร์และทางวิศวกรรม โดยวัสดุที่ต้องการสามารถจัดหาได้ภายในประเทศ จนได้ปืนต้นแบบที่มีความยาวลำกล้อง 14.5 นิ้ว และ 20 นิ้ว เข้ารับการทดสอบจากคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์กระทรวงกลาโหม จำนวน 15 สถานี   รวมทั้งทดสอบการจัดหาวัสดุชิ้นส่วนและดำเนินการผลิต Pilot Lot จำนวน 25 กระบอก ที่ได้มาตรฐานระดับสากลในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดซื้อจากต่างประเทศ


ในส่วนของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) (DTI) ได้วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่พร้อมจำหน่ายให้กับเหล่าทัพ ประกอบด้วย 1) อากาศยานไร้คนขับ รุ่น D - EYE 01 และ D - EYE 02 เป็นผลงานวิจัยที่เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมพร้อมผลิตและขาย ทั้งนี้ ทั้ง 2 รุ่นได้ผ่านการทดสอบทดลองใช้งานมาในระดับหนึ่งแล้วจากเหล่าทัพ โดยเฉพาะ D - EYE 02 ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการมาตรฐานยุทโธปกรณ์ กระทรวงกลาโหม แล้ว เมื่อปี 2563 ทั้ง 2 ระบบเป็น UAV มาตรฐานทางทหาร 2) หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD ROBOT) รุ่นหนูนา และ D - EMPRIER เป็นหุ่นยนต์ที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศได้ร่วมวิจัยพัฒนากับสถาบันการศึกษา รวมทั้งได้รวบรวมความต้องการจากหน่วยงานภายในกระทรวงกลาโหม เพื่อทำการวิจัยให้ตรงความต้องการของหน่วยใช้จนสามารถตอบสนองความต้องการและได้ต้นแบบอุตสาหกรรม ทั้ง 2 รุ่น รวมทั้งได้ผ่านการรับรองมาตรฐานของคณะกรรมการมาตรฐานยุทโธปกรณ์กระทรวงกลาโหมแล้วเช่นกัน ปัจจุบันสามารถเข้าสู่กระบวนการผลิตและขายได้แล้ว 1 รายการ คือ รุ่นหนูนา โดยมี กรมสรรพาวุธทหารเรือ กองทัพเรือ (สพ.ทร.) เป็นผู้จัดหา และอยู่ในกระบวนการจัดหาอีก 1 รายการ คือ D - EMPRIER โดยมี กรมสรรพาวุธทหารอากาศ กองทัพอากาศ เป็นผู้จัดหา สำหรับการร่วมทุนกับบริษัทเอกชน และได้จัดทำ 1) โครงการวิจัยยานเกราะล้อยางแบบ 8x8 “พยัคฆ์ทะเล” ให้กับกองทัพเรือตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกัน โดยการวิจัยพัฒนาตอบสนองการใช้งานให้กับนาวิกโยธิน ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าวได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการมาตรฐานยุทโธปกรณ์กองทัพเรือแล้ว และปัจจุบันบริษัทได้รับการเชิญเข้าสู่กระบวนการจัดหาของกองทัพเรือในการจัดหายานเกราะลำเลียงพลแบบ 8x8 ในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งในการผลิตมีชิ้นส่วนในประเทศประมาณ 40%  2) โครงการผลิตอากาศยานไร้คนขับร่วมกับมิตรประเทศ (จีน) เพื่อให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้ โดยมีกองทัพบกเป็นผู้ใช้งาน และจากการวิจัยทำให้ สทป. ได้ต้นแบบอุตสาหกรรมของอากาศยานไร้คนขับ รุ่น DP20 โดยพร้อมส่งมอบให้กองทัพบก ในเดือนเมษายน 2566 และปัจจุบัน สทป. ได้ทำการวิจัยต่อยอดเพื่อให้ได้อากาศยานไร้คนขับแบบติดอาวุธตามดำริของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือ รุ่น DP20/A ซึ่งจะสามารถส่งให้กองทัพบกได้ในปี 2567 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ทดลองขับเคลื่อนหุ่นยนต์ตรวจการณ์ขนาดพกพา รุ่นหนูนา เวอร์ชั่น 4  และหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด รุ่นดิเอ็มไพร์ เวอร์ชั่น 4 พร้อมกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการวิจัย พัฒนาการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่นำมาป้องกันประเทศ และสามารถนำมาทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ และนำไปใช้งานได้จริงในกองทัพด้วยราคาที่ต่ำกว่าการจัดซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ และคิดค้นผลิตภัณฑ์ ผลงานวิจัย ที่ช่วยสร้างผลผลิตและนำไปใช้ในงานด้านการป้องกันประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ จะต้องเสริมสร้างการวิจัยและพัฒนา ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และมิตรประเทศ ในการสร้างองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์ พร้อมทั้งส่งเสริมนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศโดยหน่วยงานภาครัฐต่อไป






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.